ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2562 เท่ากับ 107.2 (ปี 2553 = 100 และเดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 107.6)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2562
2.1 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2562เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 1.9 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กกลวง เหล็กแผ่นเรียบดำ) ตามราคาตลาดโลกที่ปรับลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก ถ่านหิน) ปรับตัวลดลง หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.3 (ซิลิโคน) และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.3 (โถส้วมชักโครก) จากการปรับส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย
2.2 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 ลดลงร้อยละ 0.8 (YoY) จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 7.8 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู) เป็นผลจากมีการแข่งขันสูงเกิดจากมีปริมาณเหล็กในตลาดจำนวนมากทั้งจากการนำเข้าและการเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งหลังจากที่หยุดซ่อมบำรุงก่อนหน้านี้ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 1.2 (โถส้วม อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ อุปกรณ์ห้องน้ำ ) จากการปรับส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.8 (สายเคเบิล สายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซีและอุปกรณ์ ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี) เนื่องจากวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) ปรับราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.6 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียม ยางมะตอย) ในส่วนยางมะตอยปรับราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู) จากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ขอบคันคอนกรีต) ปรับตามราคาปูนซีเมนต์ผสม ประกอบกับความต้องการใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่เพิ่มมากขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (กระเบื้องบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน ซิลิโคน) และหมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ปูนซีเมนต์ผสม) ตามปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น
2.3 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 ไม่เปลี่ยนแปลง (AoA) แต่มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ ดังนี้ ดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 10.4 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู) จากราคาไม้นำเข้าสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.2 (กระเบื้องเคลือบบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต) ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นจากโครงการก่อสร้างภาคเอกชน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา-ปูพื้น คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ซีทไพล์คอนกรีต ขอบคันคอนกรีต) ตามราคาปูนซีเมนต์และลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ประกอบกับมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างของโครงการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ปูนซีเมนต์ผสม) ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการก่อสร้าง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน ซิลิโคน) ในขณะที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 4.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.9 (ท่อร้อยสายไฟ ท่อพีวีซี) หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 (อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ อุปกรณ์ห้องน้ำ) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียม ยางมะตอย)
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์