ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2019 11:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2562

ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.1 จากเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ระดับ 51.2

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2562 โดยรวม อยู่ที่ระดับ 48.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ระดับ 51.2 ลดต่ำจากเกณฑ์ช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนแรกของปี 2562 จากการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตจาก 44.2 และ 55.9 มาอยู่ที่ 41.8 และ 52.3 ตามลำดับ สาเหตุที่สำคัญคาดว่ามาจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่มีเสถียรทางด้านการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งปัจจัยภายนอกจากข้อพิพาทการค้าระหว่าง สหรัฐฯ - จีน ที่ยังมีความยืดเยื้อยาวนาน สร้างความไม่มั่นใจต่อภาคการลงทุน โดยสะท้อนจากความไม่เชื่อมั่นของกลุ่มผู้ไม่มีงานทำ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับจ้างอิสระ กลุ่มพนักงานเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการ มีเพียงกลุ่มพนักงานของรัฐเท่านั้นที่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 52.1

แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น (อยู่ที่ระดับ 52.3) ชี้ให้เห็นว่า แม้ในภาวะปัจจุบันผู้บริโภคไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังมีมุมมองที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในระดับที่เชื่อมั่น ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมและอนาคต (ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 54.7 45.3 และ 60.9 มาอยู่ที่ 56.2 47.7 และ 61.8 ตามลำดับ)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกตามกลุ่มอาชีพ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมิถุนายน 2562 จำแนกรายอาชีพ พบว่า กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มพนักงานของรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 52.1 ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร (49.9) พนักงานเอกชน (47.3) ผู้ประกอบการ (46.8) รับจ้างอิสระ (46.3) นักศึกษา (45.7) และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน (45.6) เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเชื่อมั่นของทุกกลุ่มอาชีพปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการมีระดับความความเชื่อมั่นลดลงมากในเดือนนี้ โดยอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงในเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ โดยภาคที่ลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล (44.8) ภาคกลาง (49.3) ภาคเหนือ (46.3) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (50.1) ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงคาดว่าเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลส่งผลต่อความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคใต้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49.5 มาอยู่ที่ 50.8 สาเหตุของการปรับตัวของภาคใต้คาดว่ามาจากแนวโน้มสถานการณ์ราคายางพาราที่ดีขึ้น และปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมิถุนายน 2562 (ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคจากการสำรวจ 3 เดือน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างประมาณ 30,000 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ)

1.จำนวนผู้บริโภคที่เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 26.5 เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ที่ไม่เคยซื้อคิดเป็นร้อยละ 73.5 หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.8 ของผู้บริโภคทั้งหมด รองลงมา คือ ผู้บริโภคในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 30.7 สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด คือ ผู้บริโภคในภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 22.4

2.ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายเดือนทั้งประเทศ 11,525 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระต่างๆ เช่น บ้าน รถ ฯลฯ) ซึ่งเป็นการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต 1,516 บาท/เดือน (ร้อยละ 13.2 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) โดยหากพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด คือจังหวัดนนทบุรี โดยมีมูลค่าการซื้อ2,914 บาท/เดือน รองลงมาได้แก่ จังหวัดระยองและจังหวัดกาญจนบุรี มีมูลค่าการซื้อ 2,801 และ 2,728 บาท/เดือน ส่วนจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตต่ำที่สุด คือ จังหวัดนราธิวาส มีมูลค่าการซื้อเพียง 514 บาท/เดือน

3.ข้อสังเกต จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคในภาคใต้มีสัดส่วนในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคในภาคใต้มีความสนใจและนิยมซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตกลับพบว่า ภาคใต้มีมูลค่าการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตต่ำที่สุด ดังนั้นอาจต้องทำการศึกษาต่อไปว่าพฤติกรรมในการซื้อสินค้าในแต่ละภาคเป็นอย่างไร สินค้าที่ซื้อเป็นประเภทใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาทิศทางของตลาดและดูแนวโน้มในการเติบโตของสินค้าออนไลน์ในอนาคตต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ