ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2019 14:32 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 102.0 (เดือนมิถุนายน 2562 เท่ากับ 102.1)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมิถุนายน 2562 ลดลง ร้อยละ 0.1 (MoM) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 ลดลง ร้อยละ 0.1 จากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ตลาดส่งออกชะลอตัวเนื่องจากประเทศผู้ซื้อยังคงมีสต็อกข้าวที่เพียงพอ ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) พืชผัก เช่น มะนาว กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหัว กะหล่ำดอก แตงร้านและมะระจีน จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้มีผลผลิตออกมากขึ้น ผลไม้ เช่น สับปะรดโรงงาน จากคุณภาพผลผลิตลดลง กล้วยหอม มังคุด และทุเรียน เป็นช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตออกน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงมีต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันมีปริมาณลดลง ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่ม การบริโภคน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมากขึ้น สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และกุ้งแวนนาไม ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามราคาตลาดโลก สับปะรดกระป๋อง สินค้าในสต็อกมีปริมาณเกินความต้องการ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลงประกอบกับปรับราคาเพื่อเป็นแรงจูงใจในการซื้อ ไม้อัดทำจากไม้ยูคาลิปตัส การแข่งขันสูงเนื่องจากมีผู้ผลิตมากขึ้น กลุ่มเยื่อกระดาษ คำสั่งซื้อลดลง โซดาไฟ ตามภาวะราคาตลาดโลก เม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องและความต้องการใช้ชะลอตัว ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น สายไฟและสายเคเบิล ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคารุ่นเดิมลดลงก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ทดแทน ขณะที่สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากแรงหนุนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอิหร่านกับอังกฤษและสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจากความร่วมมือลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่คาดว่าจะลดลงจากผลกระทบของพายุโซนร้อน และทองคำ ตามภาวะราคาตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 1.8 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว แร่เหล็ก) ปรับตามภาวะตลาดโลก

2.2 เดือนกรกฎาคม 2561 ลดลง ร้อยละ 1.2 (YoY) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2561 ลดลงร้อยละ 1.2หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ความต้องการใช้ลดลง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าใยสังเคราะห์) ราคาวัตถุดิบลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ลดลงประกอบกับอุปสงค์ชะลอตัว กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจึงปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม สายไฟและสายเคเบิล ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.7 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 จากสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเหนียว จากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังลดลงขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ยางพารา จากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น มาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง พริกชี้ฟ้าสด) จากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผักบางชนิดผลผลิตออกไม่มากนัก ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน และฝรั่ง) สุกร/ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ปริมาณผลผลิตที่ลดลงประกอบกับความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น

2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2562 กับเดือน มกราคม – กรกฎาคม 2561 ลดลง ร้อยละ 0.4 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.–ก.ค. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.4 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนกรกฎาคม 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนกรกฎาคม 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.5 , 99.2 และ 99.7 ตามลำดับ

1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 0.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.3

2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 4.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.0

3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม –กรกฎาคม 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 2.5 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.0

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ