ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากเดือนมิถุนายน 2562 ที่ระดับ 48.1
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2562 โดยรวม อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน 2562 ที่ระดับ 48.1 ลดลงเป็นเดือนที่ 4 และต่ำกว่าเกณฑ์ช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ 51.4 แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.8 มาอยู่ที่ 42.5
ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง คาดว่ามาจากความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าการมีรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มตัวจะช่วยให้ความเชื่อมั่นต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และน่าจะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในระดับที่เชื่อมั่นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมและอนาคต (ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 56.2 47.7 และ 61.8 มาอยู่ที่ 50.9 43.1 และ 56.2 ตามลำดับ)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกรกฎาคม 2562 จำแนกรายอาชีพ พบว่า กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ มีเพียงกลุ่มพนักงานของรัฐเท่านั้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 52.4 สูงขึ้นจากเดือน มิ.ย. 62 เล็กน้อย ส่วนอีก 6 กลุ่มอาชีพค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน (ระดับ 48.2) กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับ 49.6) กลุ่มรับจ้างอิสระ (ระดับ 47.3) เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกร (ระดับ 48.9) ดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และกลุ่มนักศึกษา (ระดับ 44.9) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยสาเหตุหลักจากความไม่มั่นใจในเรื่องโอกาสในการหางานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา ซึ่งคาดว่ากระแสการใช้เทคโนโลยีแทนคน และกำลังแรงงานของผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการจ้างงาน เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มนักศึกษา
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงในเกือบทุกภาคยกเว้นกรุงเทพฯ/ปริมณฑลและภาคใต้ โดยภาคที่ลดลง ได้แก่ ภาคกลาง (49.1) ภาคเหนือ (45.9) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (49.7) ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.8 มาอยู่ที่ 46.5 และภาคใต้จากระดับ 50.8 มาอยู่ที่ 51.0 ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
ภาระหนี้สินของประชาชนเดือนกรกฎาคม 2562 จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคร้อยละ 29.0 ไม่มีภาระหนี้สิน ในขณะที่ร้อยละ 71.0 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ (ร้อยละ 63.7) ส่วนภาระหนี้นอกระบบมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.5
ที่เหลือร้อยละ 3.8 เป็นกลุ่มที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยกลุ่มที่มีภาระหนี้สินมีความเห็นว่าภาระหนี้ด้งกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริโภคของตนมากเพียงร้อยละ 36.1 ในขณะที่ร้อยละ 49.7 เห็นว่ามีผลกระทบน้อยและไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 14.2
ที่ผ่านมา (จำนวนข้อมูลเฉลี่ยเดือนละ 9,000 ตัวอย่าง) พบว่า สัดส่วนของผู้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.5 ในเดือนมกราคม เป็นร้อยละ 71.0 ในเดือนกรกฎาคม 2562 และสัดส่วนของผู้มีภาระหนี้นอกระบบ ลดลงจากร้อยละ 6.8 ในเดือนมกราคม เหลือเพียงร้อยละ 4.9 ในเดือนกรกฎาคม 2562
เมื่อพิจารณาภาระหนี้สินของผู้บริโภคเป็นรายภาค พบว่าผู้บริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีภาระหนี้สินสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 78.3 และ 75.7 ตามลำดับ สำหรับภาคที่มีภาระหนี้สินน้อยที่สุด คือ ภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 61.5 เมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพพบว่า อาชีพที่ภาระหนี้สินมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกรและพนักงานของรัฐ คิดเป็นร้อยละ 86.2 และ 81.1 ตามลำดับ
เป็นที่น่าสังเกตว่าจากนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการกู้ยืมต่างๆ เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการเป็นหนี้ของประชาชนเข้าสู่ระบบถึงร้อยละ 89.7 ในขณะที่หนี้นอกระบบมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.9 ของประชาชนที่เป็นหนี้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนที่กู้ทั้งในระบบและนอกระบบร่วมกัน คิดเป็นร้อยละ 5.4 ดังนั้นนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจต้องมีการศึกษาถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย รวมทั้งการเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์