ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 101.3 (เดือนกรกฎาคม 2562 เท่ากับ 102.0)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนสิงหาคม 2562 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกรกฎาคม 2562 ลดลง ร้อยละ 0.7 (MoM) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 ลดลง ร้อยละ 0.7 จากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีเกินความต้องการถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกดดันราคาปรับลดลง พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง มะระจีน) เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ส่งผลให้มีผลผลิตออกมากขึ้น และสุกรมีชีวิต ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการบริโภค ราคาลดลงไม่มากนัก สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการเพาะปลูกขณะที่ความต้องการยังคงมีต่อเนื่อง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.6 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ปรับตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.5 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง (ลำไย) หน่อไม้กระป๋อง ผลผลิตเกษตรที่เป็นวัตถุดิบออกสู่ตลาดมาก น้ำมันปาล์มดิบ ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลงและส่วนหนึ่งจากผลปาล์มคุณภาพต่ำเข้าโรงงาน น้ำตาลทรายและกากถั่วเหลือง ปรับตามราคาตลาดต่างประเทศ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง และเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอตัวแม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจากความร่วมมือลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับสต็อกยางของจีนยังมีอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) ตามราคาตลาดโลกประกอบกับการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากหลายประเทศ กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ลดราคาเพื่อระบายสินค้า และเยื่อกระดาษ ราคาลดลงตามตลาดโลก
2.2 เดือนสิงหาคม 2561 ลดลง ร้อยละ 1.7 (YoY) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 ลดลงร้อยละ 1.7หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.7 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง อุปทานมีมากขณะที่มีการแข่งขันสูงในตลาดต่างประเทศ น้ำมันพืช (น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์) ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง กากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องประกอบกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) ตามราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัว กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์) ราคาวัตถุดิบลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ ตามราคาตลาดโลกที่ลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลงและการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิมก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ทดแทน และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 5.6 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 จากสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก (มะนาว แตงกวา พริกสด กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย พริกชี้ฟ้าสด) จากผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำในบางพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอ ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน มะละกอ ฝรั่ง) จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนักเนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและเกษตรกรจากมาตรการปรับลดผลผลิตทั้งระบบให้สมดุลกับความต้องการบริโภค กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาอินทรี ปูม้า หอยนางรม และหอยแครง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลปาล์มสด ยางพาราและกุ้งแวนนาไม เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีมากเกินความต้องการประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ราคาลดลง
2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 กับเดือน มกราคม – สิงหาคม 2561 ลดลง ร้อยละ 0.6 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.–ส.ค. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.5 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และยานพาหนะและอุปกรณ์ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.1 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ
ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนสิงหาคม 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.3 , 98.0 และ 97.5 ตามลำดับ
1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนสิงหาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 2.2
2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนสิงหาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.3 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 5.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 1.0
3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 2.8 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.5
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์