ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 47.2 จากเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ระดับ 47.8
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2562 โดยรวม อยู่ที่ระดับ 47.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ระดับ 47.8 ลดลงเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าเกณฑ์ช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 42.5 มาอยู่ที่ 41.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังคงอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.3 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง คาดว่ามาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และแนวโน้มเศรษฐกิจการค้าโลกที่ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาล คาดว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในระดับที่เชื่อมั่น ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมและอนาคต (ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม และปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 และ 43.1 มาอยู่ที่ 50.3 และ 40.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 56.2 มาอยู่ที่ 56.9 ตามลำดับ)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนสิงหาคม 2562 จำแนกรายอาชีพ พบว่า ทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจลดลงโดยมีเพียงกลุ่มพนักงานของรัฐเท่านั้นที่ค่าดัชนีอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (ระดับ 51.5) ส่วนอีก 6 กลุ่มอาชีพค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน (ระดับ 47.0) กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับ 48.4) กลุ่มรับจ้างอิสระ (ระดับ 44.2) กลุ่มนักศึกษา (ระดับ 44.7) เป็นที่ น่าสังเกตว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกร (ระดับ 47.0) ดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยปัจจัยหลักคาดว่าน่าจะมาจากราคาผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต แต่อย่างไรก็ตาม จากการอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกลุ่มเกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงทุกภาค โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง จาก 46.5 เป็น 45.5 ภาคกลาง จาก 49.1 เป็น 48.0 ภาคเหนือ จาก 45.9 เป็น 45.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 49.7 เป็น 47.9 และภาคใต้ จาก 51.0 เป็น 46.6 อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังสูงกว่าระดับ 50 ในกลุ่มผู้ประกอบการของทุกภาค และกลุ่มเกษตรกรในภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาจะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจในอนาคต
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 39.1 อันดับ 2 ปัญหาภาวะเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 34.3 และ อันดับ 3 สถานการณ์ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 9.5
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์