ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 101.3 (เดือนสิงหาคม 2562 เท่ากับ 101.3)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง (MoM) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาสินค้าหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงของสินค้าเกษตรสำคัญ โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลปาล์มสด ผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มากนักขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง พืชผัก (มะเขือ ผักกาดหอม กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง บวบ มะระจีน) เนื่องจากมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับผักบางชนิดเน่าเสียง่าย ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ราคาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการบริโภค สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน เงาะ ลำไย มะละกอ ลองกอง) สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางทำให้อุปทานลดลง และทองคำ ตามราคาตลาดโลกเนื่องจาก นักลงทุนมีความกังวลกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิเช่น ไก่สด เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวฤดูฝน ความต้องการบริโภคลดลง น้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก สำหรับสินค้าข้าวนึ่ง เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋องและปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปรับตามค่าเงินที่แข็งค่า กลุ่มเยื่อกระดาษ เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก เม็ดพลาสติก จากอุปสงค์ในประเทศและตลาดโลกที่ซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โซดาไฟ ตามราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ตามราคาตลาดโลกประกอบกับราคาวัตถุดิบลดลงและมีการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากหลายประเทศ กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ลดราคาเพื่อระบายสินค้า ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ปรับตามภาวะตลาดโลก
2.2 เดือนกันยายน 2561 ลดลง ร้อยละ 1.9 (YoY) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ลดลงร้อยละ 1.9 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง อุปทานมีมากขณะที่มีการแข่งขันสูงในตลาดต่างประเทศ น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง กากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องประกอบกับผลกระทบสงครามการค้าส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) ตามราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัว โซดาไฟ เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ด้ายฝ้าย) ราคาวัตถุดิบลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ จากการลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศและค่าเงินที่แข็งค่า กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ลดลงตามราคาวัตถุดิบและจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดลดลง ประกอบกับการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิเช่น จีน อินเดียและเกาหลี กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับราคาเพื่อระบายสินค้า รุ่นเดิมก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ทดแทน สายไฟ สายเคเบิ้ลและแบตเตอรี่ จากราคาวัตถุดิบลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 7.1 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชผัก (มะนาว มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี คะน้า ผักบุ้ง ผักชี ผักขึ้นฉ่าย พริกชี้ฟ้าสด ฟักทอง) ผลผลิตลดลงเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำในบางพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มะละกอ ฝรั่ง กล้วยไข่) จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น กลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภคทำให้ราคาปรับขึ้นไม่มากนัก กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาอินทรี ปูม้า หอยนางรม หอยลาย และหอยแครง สภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีอยู่มากประกอบกับความต้องการของตลาดลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – กันยายน 2562 กับเดือน มกราคม – กันยายน 2561 ลดลง ร้อยละ 0.8 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.–ก.ย. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.8 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.6 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้า เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก) และเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์
2.4 เทียบดัชนีเฉลี่ยไตรมาสที่ 3 กับไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ลดลง ร้อยละ 1.1 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาไตรมาสที่ 3 เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.1 จากหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.3 จากสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังสด มะพร้าว อ้อย ยางพารา พืชผัก สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม จากผลผลิตอออกสู่ตลาดมากประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 2.7 จากน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตามราคาตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง ปลากระป๋อง ผลไม้รวมกระป๋อง กากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าทอ ผ้าฝ้าย และ เครื่องแต่งกายกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้อัด และกรอบไม้ กลุ่มเยื่อกระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กลุ่มปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กลุ่มเคมีภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง กลุ่มอโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ และแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป กลุ่มเหล็ก ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายไฟ และแบตเตอรี่ กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ
2.5 เทียบดัชนีไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 กับไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ลดลง ร้อยละ 1.6 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ลดลงร้อยละ 1.6 สาเหตุหลักจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ร้อยละ -2.6) และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง (ร้อยละ -4.8) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมยังเคลื่อนไหวในทิศทางเป็นบวก (ร้อยละ 7.2) โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ สายไฟ สายเคเบิลและแบตเตอรี่ สินค้าปุ๋ย โซดาไฟ คลอรีนและกรดเกลือ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และรวมไปถึงสินค้ากลุ่มเยื่อกระดาษ สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย) ผลิตภัณฑ์อาหาร (กุ้งแช่แข็ง น้ำมันพืช กากถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ปลาป่น น้ำตาลทราย) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (รถบรรทุกขนาดเล็ก) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแท่ง ถุงยางอนามัย ท่อและ ข้อต่อพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก) ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงจากสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบ แร่ตะกั่ว สังกะสี ดีบุกและวุลแฟรม สำหรับหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ปรับสูงขึ้นจากสินค้าข้าว ยางพารา พืชผัก ผลไม้ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ปลาน้ำจืด ปลาทะเล ปูและหอย
แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2562 คาดว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตยังเคลื่อนไหวในทิศทางเป็นลบ ตามเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ สาเหตุหลักจากราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก เคมีอนินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เคลื่อนไหวตามตลาดโลกและอุปสงค์ที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ บางรายการลดลงตามวัตถุดิบ รวมทั้งมีการปรับราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและระบายสินค้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรมคาดว่ายังมีแนวโน้มเป็นบวก โดยเฉพาะพืชผลการเกษตรและสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์
ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนกันยายน 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนกันยายน 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.1 , 98.0 และ 98.7 ตามลำดับ
1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ไม่เปลี่ยนแปลง และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.2
2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 5.7 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.7
3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – กันยายน 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 3.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.3
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์