ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2562
ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 เมื่อเทียบกับระดับ 47.2 ในเดือนก่อนหน้า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2562 โดยรวม อยู่ที่ระดับ 46.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.2 ในเดือนสิงหาคม 2562 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยเป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 41.0 มาอยู่ที่ 39.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังคงอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 50.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.3 และเฉลี่ยไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 47.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.9
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง คาดว่ามาจากความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับการปรับลดการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยของหลายหน่วยงาน เงินบาทที่ยังมีทิศทางแข็งค่า การส่งออกที่ยังหดตัว และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมสร้างให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 เล็กน้อย ชี้ว่าประชาชนยังมีมุมมองทางบวกและเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอนาคตน่าจะยังมีทิศทางที่ดีขึ้นได้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2562 จำแนกรายอาชีพ พบว่า กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ มีเพียงกลุ่มพนักงานของรัฐเท่านั้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 50.8 ลดลงจากเดือน สิงหาคม 2562 เล็กน้อย ส่วนอีก 6 กลุ่มอาชีพ ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร (ระดับ 47.2) กลุ่มพนักงานเอกชน (ระดับ 43.9) กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับกลุ่มนักศึกษา (ระดับ 43.0) และกลุ่มไม่ได้กd กลุ่มนักศึกษา (43.0) กลุ่มไม่ได้ทำงาน (ระดับ 43.9) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับจ้างอิสระ และกลุ่มไม่ได้ทำงาน ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งปัจจัยสำคัญคาดว่ามาจากการดำเนินการของรัฐบาลผ่านมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือนในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2562
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงเกือบทุกภาค โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง จาก 45.5 เป็น 42.0 ภาคกลาง จาก 48.0 เป็น 47.6 ภาคเหนือ จาก 45.1 เป็น 44.9 และภาคใต้ จาก 46.6 เป็น 45.8 มีเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจาก 47.9 เป็น 48.4 ซึ่งถึงแม้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้ความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วม แต่ผลกระทบอยู่ในวงจำกัดในบางพื้นที่ไม่ได้กระจายไปทั่วทั้งภาค ประกอบกับรัฐบาลมีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกมิติ เช่น การครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และการให้เงินเยียวยาผู้ประสบภัย เป็นต้น
ความเพียงพอของรายได้กับรายจ่าย ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย คิดเป็นร้อยละ 55.3 ในขณะที่ร้อยละ 44.7 มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย โดยกลุ่มอาชีพที่มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ได้แก่ กลุ่มอาชีพผู้ประกอบการและพนักงานของรัฐ เท่านั้น
การติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ ผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 71.1 (ติดตามบ้าง ร้อยละ 57.3 ติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 13.8) และไม่ติดตาม คิดเป็นร้อยละ 28.9 (ไม่ค่อยติดตาม ร้อยละ 25.1 ไม่เคยติดตามเลย ร้อยละ 3.8)
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์