ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนตุลาคม 2562 (ปี2553 = 100) เท่ากับ 100.9 เทียบกับเดือนตุลาคม 2561 ลดลงร้อยละ 2.5 (YoY) จากการลดลงของราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร้อยละ 3.3 และผลิตภัณฑ์จากเหมืองร้อยละ 8.6 โดยเฉพาะ น้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เยื่อกระดาษ โลหะขั้นมูลฐาน และยางพารา โดยมีเหตุผลสำคัญ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อความต้องการซื้อ และราคาสินค้าในตลาดโลก ถึงแม้ว่าสินค้าเกษตรจะมีราคาสูงขึ้นที่ร้อยละ 5.8 แต่มีแนวโน้มลดลงจากเดือนที่ผ่านมา หากดูความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีราคาของทั้งสามขั้นตอนการผลิตลดลง ดังนี้ สินค้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 2.0 สินค้ากึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 6.5 และ สินค้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 0.7 ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อมโยงของราคาสินค้าในแต่ละขั้นตอนการผลิต โดยสินค้าที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ อ้อย-น้ำตาลทรายดิบ-กากน้ำตาลทราย-น้ำตาลทรายขาว ข้าวสารเหนียว-ข้าวเหนียว น้ำมันดิบ-ก๊าซปิโตรเลียม-น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำยางพาราดิบ-ผลิตภัณฑ์ยาง และ หัวมันสำปะหลังสด-ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง การลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิตโดยรวมส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของราคาวัตถุดิบ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นในสินค้าบางรายการ เช่น โลหะขั้นมูลฐาน เป็นต้น
1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 2.5 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.3 จากสินค้าสำคัญในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบสงครามการค้า กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) ตามราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ กากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย ซึ่งราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลกและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงตามราคาวัตถุดิบ กลุ่มสิ่งทอ ราคาวัตถุดิบลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ ตามราคาตลาดโลกและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ตามราคาตลาดโลกและความต้องการของตลาดที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 8.6 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตามภาวะตลาดโลก หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.8 จากสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด จากมาตรการภาครัฐต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มให้ลดลง ทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้น เช่น นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า (กฟผ.) และการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 บี 10 และบี 20 เป็นมาตรฐานทางเลือก ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าวผล พืชผัก ผลผลิตลดลงเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำในพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล ปูม้า หอยนางรม หอยลาย และหอยแครง จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หัวมันสำปะหลัง อ้อย ยางพาราและกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีอยู่มาก ประกอบกับความต้องการของตลาดลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว จากความต้องการที่ลดลงและค่าเงินผันผวนประกอบกับชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องประกอบกับสภาพอากาศที่ความชื้นสูงส่งผลให้คุณภาพลดลง ยางพารา ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการใช้ยางลดลง พืชผัก เนื่องจากมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูกทำให้มีผลผลิตออกมาก กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ความต้องการบริโภคลดลงเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ไข่ไก่และไข่เป็ด ปรับลดลงไม่มากนักจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการบริโภค กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นขณะที่การบริโภคลดลงจากเทศกาลกินเจ ประกอบกับเงินบาทยังแข็งค่ากดดันให้การส่งออกลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลปาล์มสด จากมาตรการเร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้อไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณสต๊อก มันสำปะหลัง มะพร้าวผล และผลไม้ ผลผลิตออกไม่มากนักขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ข้าวนึ่ง รำข้าวขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ตามราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ใช้ในการผลิตที่ปรับลดลงในเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัว นมถั่วเหลือง ปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตามราคาตลาดโลกเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกยังคงชะลอตัว ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน กลุ่มเม็ดพลาสติก จากอุปสงค์ในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานตามราคาตลาดโลกประกอบกับราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า โซดาไฟและทองคำ ตามราคาตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ปรับตามภาวะตลาดโลก
3. เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.4 สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.7 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์