อยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2562 โดยรวม อยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากระดับ 46.0 ในเดือนกันยายน 2562 และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 39.8 และ 50.1 มาอยู่ที่ 40.5 และ 50.2 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรับตัวสูงขึ้นในลักษณะเดียวกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งภาพรวม ปัจจุบัน และอนาคต ปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นโดยรวมและปัจจุบันยังอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเชื่อมั่นในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี ชี้ว่าแม้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีความน่ากังวล (สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันยังต่ำกว่า 50 ซึ่งอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) แต่ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ในอนาคตมาโดยตลอดทั้งปี (ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตยังสูงกว่า 50) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา (ผู้บริโภคเห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ เกินร้อยละ 50) ทั้งในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวผ่านโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ในระยะต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนตุลาคม 2562 จำแนกรายอาชีพ พบว่า กลุ่มที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร (ระดับ 47.3) กลุ่มพนักงานเอกชน (ระดับ 44.6) กลุ่มรับจ้างอิสระ (ระดับ 44.8) และกลุ่มนักศึกษา (ระดับ 44.2) ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับ 46.7) กลุ่มพนักงานของรัฐ (ระดับ 50.6) และกลุ่มไม่ได้ทำงาน (ระดับ 42.3) ดัชนีปรับตัวลดลง เป็นที่น่าสังเกตว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักศึกษาปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกภาค โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงขึ้น จาก 42.0 เป็น 42.2 ภาคเหนือ จาก 44.9 เป็น 46.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 48.4 เป็น 48.7 ในขณะที่ภาคกลางและภาคภาคใต้ ดัชนีทรงตัวที่ระดับ 47.6 และ 45.8 ตามลำดับ โดยทุกภูมิภาคที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากความเชื่อมั่นต่อนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลด้านบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต
มุมมองของผู้บริโภคต่อปัญหาของประเทศในปัจจุบัน จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภครู้สึกว่าเรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 88.5 รองลงมา คือ ค่าครองชีพสูง คิดเป็นร้อยละ 87.6 และปัญหายาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 86.3
โดยเรื่องที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 88.0) ความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 87.0) และต้นทุนการผลิตสูง (ร้อยละ 85.3) สำหรับเรื่องที่เกษตรกรมีความกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (ร้อยละ 91.3) ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 89.3) และต้นทุนการผลิตสูง (ร้อยละ 87.7)
ความคิดเห็นต่อมาตรการ/นโยบายของรัฐ จากผลการสำรวจพบว่า โครงการที่ผู้บริโภคเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 93.3 รองลงมาได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกร และเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด คิดเป็นร้อยละ 87.9 และ 83.2 ตามลำดับ สำหรับการเปิดเสรีกัญชา มีผู้เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 51.2 เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดเสรีกัญชา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างอิสระ สำหรับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ไม่เห็นด้วย
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์