ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม2562 และปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2020 15:32 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY)เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาข้าวสารที่ปรับสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ รวมถึงราคาเนื้อสุกรจากต้นทุนการเฝ้าระวังโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้หมวดอาหารสดสูงขึ้นร้อยละ 3.34ขณะที่การหดตัวของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ -0.59 จากการปรับราคาตามตลาดโลก ถึงแม้ว่าจะมีการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกทุกชนิด 1 บาท/ลิตร ในช่วงวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 ก็ตาม ส่งผลให้หมวดพลังงานลดลงน้อยที่สุดในรอบปีร้อยละ -0.02 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.49

เงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.71 (AoA)โดยอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.7 -1.0 เป็นการสูงขึ้นของหมวดอาหารสด ร้อยละ 4.21 จากผักและผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของอากาศช่วงกลางปี และเกิดอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสที่ 3ส่งผลให้ราคาข้าวสารเหนียวสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่หมวดพลังงานลดลงร้อยละ -2.68 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -4.62 ตามตลาดโลกที่ความต้องการลดลง รวมถึงการลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ 18 กันยายน 2562 เงินเฟ้อพื้นฐานปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (AoA) 1. เทียบเดือนธันวาคม2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.87(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.73 จาก ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 8.75 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่มีปริมาณผลผลิตน้อยลงขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ปลานิล) สูงขึ้นร้อยละ 2.21 จากความต้องการบริโภคมีมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน และจากโรคระบาดในสุกร ผลไม้(เงาะ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง) สูงขึ้นร้อยละ 2.85 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้นร้อยละ 2.29 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.86 ผลต่อเนื่องจากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม เมื่อ 1 ต.ค.62 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป และข้าวแกง/ข้าวกล่อง) สูงขึ้นร้อยละ 0.68 และ 0.26 ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม เครื่องปรุงรส) ลดลงร้อยละ -0.02 ผักสด(ผักคะน้า ผักชี มะนาว ขึ้นฉ่าย) ลดลงร้อยละ -1.90 เนื่องจากผลผลิตมีมากตามสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาสูง
  • หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.38 ตามการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.61 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.25 หมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้นร้อยละ 0.27 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ (ค่าเช่ารถตู้) ค่าเล่าเรียน) สูงขึ้นร้อยละ 0.73 รวมทั้งหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.36 จากค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.13 จากการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษเส้นทางโทลล์เวย์ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.62โดยมีผลต่อไปอีก 5 ปี ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวลดลง ร้อยละ -0.59 การสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ -0.05หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลงร้อยละ -0.12
2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.01(MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการดังนี้
  • หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.12 ตามการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล ก๊าซธรรมชาติ (NGV)) ร้อยละ 0.46 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.37 โดยปรับสูงขึ้นในค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย โฟมล้างหน้า และน้ำยาบ้วนปาก หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา(ค่าทัศนาจรในต่างประเทศ) สูงขึ้นร้อยละ 0.01 ขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่ปรับลดลงได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อสตรี กางเกงขายาวสตรี) ลดลงร้อยละ -0.06 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(เบียร์) ลดลงร้อยละ -0.02 รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ -0.03 จากค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า และการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ ช่วงวันที่ 27 ธ.ค. 62 ถึง 3 ม.ค.63 ส่วนหมวดเคหสถานโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ -0.13 ตามการลดลงของ ผักและผลไม้ลดลงร้อยละ -1.44โดยผักสด (ผักชี พริกสด ผักคะน้า ผักกาดขาว) ลดลงร้อยละ -2.29 เนื่องจากผลผลิตมากเพียงพอต่อความต้องการ เช่นเดียวกับผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน ชมพู่ แตงโม) ลดลงร้อยละ -1.11 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ ครีมเทียม นมเปรี้ยว) ลดลงร้อยละ -0.67 ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลงร้อยละ -0.06เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปีออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดลดราคาส่งเสริมการขายของเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส น้ำปลา) ลดลงร้อยละ -0.11 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำผลไม้ กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้)ลดลงร้อยละ -0.12 ขณะที่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ปลานิล) สูงขึ้นร้อยละ 0.47 อาหารบริโภคนอกบ้าน(อาหารเช้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 ส่วนอาหารบริโภคในบ้านโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
3.เฉลี่ยปี 2562 เทียบกับปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.71(AoA )โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 2.31 โดยปรับขึ้นทุกหมวดสินค้าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) สูงขึ้นร้อยละ 6.07 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ปลาดุก ปลานิลปลาทู หอยแครง หอยลาย) สูงขึ้นร้อยละ 3.46 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมข้นหวาน ครีมเทียม) สูงขึ้นร้อยละ 1.59 ผักและผลไม้ร้อยละ 4.97โดยผักสด (กะหล่ำปลี มะนาว พริกสด ต้นหอม) สูงขึ้นร้อยละ 8.37 ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรด ทุเรียน ฝรั่ง) ร้อยละ 3.12 เครื่องประกอบอาหาร(ซอสพริก ผงชูรส น้ำพริกแกง) สูงขึ้นร้อยละ 0.80 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำอัดลม น้ำหวาน ชา-กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) สูงขึ้นร้อยละ 0.95 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.73 และ 1.10 ตามลำดับ จากกับข้าวสำเร็จรูป แฮมเบอร์เกอร์ และอาหารเช้า
  • หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -0.21 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -4.62 และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.04 ส่งผลให้หมวดพาหนะ การขนส่ง การสื่อสารลดลงร้อยละ -1.15 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ -0.02 ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 4.27 หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 0.42 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯสูงขึ้นร้อยละ 0.57 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.23 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าสูงขึ้นร้อยละ 0.10
4. ไตรมาส 4 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.23 (QoQ) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ -0.40 ตามการลดลงของ ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -4.66โดยผักสด (กะหล่ำปลี มะนาว พริกสด ผักกาดขาว) ลดลงร้อยละ -6.80 ผลไม้สด (ส้มเขียวหวานกล้วย มะละกอ) ลดลงร้อยละ -4.32 เป็นช่วงฤดูกาลที่ผลไม้บางชนิดออกสู่ตลาด เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทับทิม กุ้งขาว ปลาหมึกกล้วย) ลดลงร้อยละ -1.20 เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา ทำให้ความต้องการบริโภคชะลอตัว ขณะที่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 2.95 เป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค เครื่องประกอบอาหาร(น้ำปลา ซอสพริก เกลือป่น) สูงขึ้นร้อยละ 0.21 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำอัดลม น้ำหวาน )สูงขึ้น ร้อยละ 1.44 จากการจัดเก็บภาษีความหวาน ซี่งมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมข้นหวาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.75 อาหารบริโภคนอกบ้าน(อาหารเช้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.13 ส่วนอาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.16(ข้าวผัด กับข้าวสำเร็จรูป)
  • หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -0.13 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.58 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -1.88รวมถึงหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์) ลดลงร้อยละ -0.10 ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.69 โดยเฉพาะการปรับสูงขึ้นในค่าของใช้ส่วนบุคคล (อาทิ สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพู ผ้าอนามัย) หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา(ค่าทัศนาจรใน-ต่างประเทศ) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยกทรง) สูงขึ้นร้อยละ 0.04 รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.09 รวมถึงหมวดเคหสถานสูงขึ้น 0.05
5.ไตรมาส4 ปี2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ0.40 (YoY)
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.82 โดยปรับขึ้นทุกหมวดสินค้าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) สูงขึ้นร้อยละ 8.85 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ปลาดุก ปลานิล ปลาทู หอยแครง หอยลาย) สูงขึ้นร้อยละ2.03 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ครีมเทียม) สูงขึ้นร้อยละ 2.59 ผักและผลไม้ร้อยละ 2.58 โดยผักสด (กะหล่ำปลี พริกสด แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว) สูงขึ้นร้อยละ 0.11 ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า เงาะ ฝรั่ง แตงโม องุ่น ชมพู่) ร้อยละ 3.34 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟร้อน/เย็น) สูงขึ้นร้อยละ 1.76 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.66 และ 0.27 ตามลำดับ จากอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว) ลดลงร้อยละ -0.21
  • หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -0.41 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -6.77และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.05ส่งผลให้หมวดพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร ลดลงร้อยละ -1.71หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ -0.10ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.15หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 0.31 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.75หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.45 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าสูงขึ้นร้อยละ 0.09 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
6. คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2563 อยู่ระหว่าง 0.4 -1.2 (YoY) (ค่ากลาง 0.8)

ยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี จะยังคงได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากราคาพลังงาน และจะค่อยๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ