ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2019 15:37 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) เป็นการปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง จากผลของราคาในหมวดสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ สูงขึ้นร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลาย รวมถึงปัญหา Brexit มีความชัดเจนขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 7.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานของราคาน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ตามการสั่งซื้อสินค้าที่ชะลอตัวลง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (YoY) จากผลของราคาในหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเป็นหลัก สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 17.1 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ตามภาวะราคาตลาดโลก ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทแข็งค่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทย อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลายและคุณภาพสูง ทำให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกและส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

อัตราการค้า (Term of Trade) ของประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2562

อัตราการค้าของไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เท่ากับ 107.7 (เดือนตุลาคม 2562 เท่ากับ 108.4) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกยังคงสูงกว่าราคานำเข้า ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินค้าของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศไทย ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐและรูปเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY)

ดัชนีราคาส่งออก ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นเล็กน้อย จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ส่วนในรูปเงินบาทลดลงค่อนข้างมาก จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง สำหรับดัชนีราคานำเข้า ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนในรูปเงินบาท ลดลงจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจัยหลักเป็นผลจากเงินบาทแข็งค่า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2562

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2562 เท่ากับ 100.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2562 เท่ากับ 100.7) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 101.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 107.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.4 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 77.8

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย จากผลผลิตน้ำตาลโลกที่ลดลง เนื่องจากมีการนำวัตถุดิบประเภทน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีแนวโน้มขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไป จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ราคาสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง โดยเฉพาะยางพารา ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใบยางร่วง ทำให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ราคาสูงขึ้นจากความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนที่มีการนำเข้าเนื้อไก่แปรรูปจากไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามการสั่งซื้อสินค้าที่ชะลอตัวลง

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากฐานของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการใช้ชะลอลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเคลื่อนไหวของสินค้าสำคัญดังนี้ สินค้าส่งออกที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขณะที่สินค้าส่งออกที่ราคาปรับลดลง คือ น้ำตาลทราย จากผลของปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกล้นตลาด

2.3 เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทองคำ เคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าชะลอตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2562

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2562 เท่ากับ 93.5 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2562 เท่ากับ 92.9) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 69.0 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 97.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 103.9 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 97.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังกลุ่มโอเปก (OPEC) และประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิต หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องประดับอัญมณี เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน และรถยนต์นั่ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ และกาแฟ ชา เครื่องเทศ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน ตามภาวะราคาตลาดโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า

2.3 เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีหมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และด้ายและเส้นใย และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมอื่นๆ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ ปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ