ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2563เท่ากับ 102.78
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.05 (YoY)เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน และเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 1.0 -3.0ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของอาหารสดส่งผลให้หมวดอาหารสดสูงขึ้น ร้อยละ 3.45 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ผลไม้ และสุกร ยังมีความต้องการสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีที่แล้ว และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 9เดือน ส่งผลให้หมวดพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 1.54
เมื่อหักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.47
อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาเดือนมกราคม 2563
- หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.82 โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 8.31 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลผลิตน้อยขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงปรกติ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ไก่สด) สูงขึ้นร้อยละ 3.53 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงความต้องการผลไม้ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบการไหว้ที่มากขึ้น เช่น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า เป็นต้น ส่งผลให้ผลไม้สูงขึ้นร้อยละ 3.50 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด ไข่เป็ด) สูงขึ้นร้อยละ 1.52 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.95 ยังเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับภาษีค่าความหวานเมื่อ 1 ตุลาคม 2562 เครื่องประกอบอาหาร(มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา เกลือป่น) สูงขึ้นร้อยละ 0.80 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.65 และ 0.24 ตามลำดับ เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ขณะที่ผักสด(ผักกาดขาว ผักชี มะนาว มะเขือเทศ พริกสด) ลดลงร้อยละ -5.42เนื่องจากผลผลิตมากขึ้นตามสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
- หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.62 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 1.26 โดยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้นก๊าชธรรมชาติ (NGV)) สูงขึ้นร้อยละ 2.37 ค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้) สูงขึ้นร้อยละ 5.89 รวมทั้งค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์ สูงขึ้น ร้อยละ 1.01 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(กางเกงขายาวสตรี เสื้อเชิ้ต รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ) สูงขึ้นร้อยละ 0.16 หมวดเคหสถาน(ค่าเช่าบ้าน ไม้กวาด น้ำยาล้างจาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.15 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมชาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สูงขึ้นร้อยละ 0.21 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.76 ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดการสื่อสาร(เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ -0.05 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลงร้อยละ -0.02
- หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.41 ตามการสูงขึ้นของ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ไก่สด) สูงขึ้นร้อยละ 2.41 ผลไม้สด(ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน องุ่น) สูงขึ้นร้อยละ 1.28 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) สูงขึ้นร้อยละ 0.81 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำผลไม้ น้ำดื่มบริสุทธิ์ น้ำหวาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเย็น-ตามสั่ง) สูงขึ้นร้อยละ 0.06 ขณะที่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) ลดลงร้อยละ -0.03 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) ลดลงร้อยละ -0.39 ผักสด(ผักบุ้ง หัวหอมแดง ผักกาดขาว มะเขือ) ลดลงร้อยละ -2.43 เนื่องจากผลผลิตผักออกสู่ตลาดพร้อมกันหลายชนิด หมวดอาหารบริโภค-ในบ้านโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.01 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.03 จากการปรับราคาของน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น ก๊าซยานพาหนะ (LPG))สูงขึ้นร้อยละ 0.11 หมวดเคหสถาน(ค่าเช่าบ้าน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า น้ำยาซักแห้ง) สูงขึ้นร้อยละ 0.06 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องรับโทรทัศน์) สูงขึ้นร้อยละ 0.04 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(เบียร์) สูงขึ้นร้อยละ 0.07 ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(สบู่ถูตัว ลิปสติก ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า) ลดลงร้อยละ -0.21 และค่าโดยสารสาธารณะ(ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า) ลดลงร้อยละ -0.24 ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์