ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 105.4 เทียบกับ เดือนมกราคม 2562 ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยมีปัจจัยสำคัญ จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 8.5) หมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 0.1) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ร้อยละ 0.7) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ร้อยละ 0.3)
ทั้งนี้ สถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงต้นปี 2563 ยังคงหดตัวตามแรงกดดันของเศรษฐกิจในประเทศ และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ พ.ศ.2563 แต่คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดีขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี การกลับมาเป็นบวก ในรอบ 6 เดือนของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value : LTV) น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนภาคการก่อสร้างในประเทศให้ดีขึ้นในระยะต่อไป
1.เดือนมกราคม 2563 เทียบกับเดือนมกราคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 8.5 เป็นการลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ซีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลซีท ปัจจัยหลักสำคัญจากราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายปริมาณมาก หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกปูพื้น ซีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบมีราคาลดลง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของยางมะตอย การลงทุนภาครัฐยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน 11 ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู ปรับราคาสูงขึ้นต้นปี 2562 และราคาทรงตัวถึงมกราคม 2563 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูนและสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาสูงขึ้นตามวัตถุดิบเม็ดสี และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และถังเก็บน้ำสแตนเลส เนื่องจากราคาสแตนเลสปรับราคาสูงขึ้น
2. เดือนมกราคม 256 เทียบกับเดือนธันวาคม 2562 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 1.8 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ขาว หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ และสีเคลือบน้ำมัน และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ กระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูปสายฉีดชำระ หมดช่วงกิจกรรมส่งเสริมการขาย ราคาจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และถังเก็บน้ำสแตนเลส จากการปรับราคาสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ขณะที่หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของยางมะตอย ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะจีน รวมถึงความต้องการใช้ยางมะตอยในประเทศยังไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรอโครงการของรัฐจากการพิจารณางบประมาณปี 2563
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์