ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมีนาคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 100.0 เทียบกับเดือนมีนาคม 2562 ลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่ โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย ปาล์ม สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้งและอีกส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าทุน หดตัวร้อยละ 1.0 5.0 และ0.3 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ – ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลัง – แป้งมันสำปะหลัง จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อ้อย – น้ำตาลทรายดิบ – น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง ปาล์มสด – น้ำมันปาล์มดิบ- น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ
1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 2.0 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.5 จากราคาสินค้าสำคัญที่เคลื่อนไหวลดลงตามตลาดโลก ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เอทิลีน โพรพิลีน) กลุ่มเคมีภัณฑ์(โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์อะคริลิค) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ (กระดาษพิมพ์เขียน) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล แบตเตอรี่) สำหรับส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลดลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.7 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.8 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว มะพร้าวผล อ้อย และผลไม้ (องุ่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มะพร้าวอ่อน ฝรั่ง กล้วยไข่ ชมพู่) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะภัยแล้งประกอบกับความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ปาล์มสด จากภาครัฐมีนโยบายเพื่อดูดซับอุปทานส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ เช่น สนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล ส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้น สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด ยางพารา ผักสด (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำดอก แตงร้าน) และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว
2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว และมันสำปะหลังสด ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว ผลปาล์มสด และยางพารา (น้ำยางข้น เศษยาง) จากปัญหาไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการลดลง ผักสด (มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักชี ผักกวางตุ้ง) ผลไม้ (องุ่น กล้วยหอม มะม่วง ส้มเขียวหวาน ลำไย ชมพู่) กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัว กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดประกอบกับความต้องการชะลอตัวจากปัญหาไวรัสโควิด-19
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.4 จากราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) ตามราคาตลาดโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากนโยบายลดการเดินทางเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันระหว่างกลุ่มโอเปคและพันธมิตรยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (เอทิลีน โพรพิลีน) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) ตามความต้องการที่ลดลงของตลาดต่างประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.1 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ตามราคาตลาดโลก
3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.0 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า สายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟและปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้อัด กลุ่มผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า ได้แก่ รองเท้าแตะ รองเท้าบุรุษ
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.7 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
- หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเหนียว สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ชมพู่ และกลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่
4. ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด สับปะรดโรงงาน/บริโภค ยางแผ่นดิบ หัวมันสำปะหลังสด ข้าวเปลือกเหนียว มะพร้าวอ่อน และกลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาทูสด ปลาหมึกกล้วย หอยแครง
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ เม็ดพลาสติก กรดเกลือและคลอรีน กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลวดแรงดึงสูง ลวดเหล็ก และกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้อัด
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
5. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 2 ปี 2563
สถานการณ์ราคาผู้ผลิตยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจาก 1) การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 2) การลดลงของราคาน้ำมัน และ 3) ปัญหาภัยแล้ง เป็นสำคัญ ทำให้ราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรวม คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีแนวโน้มลดลง ดังนี้
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการบริโภคและการลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก สิ่งทอ ยานยนต์ และยางพารา รวมทั้งการปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาน้ำมันโลกส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลง โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่อุตสาหกรรมบางชนิดอาจจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะบะหมี่สำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรส กระดาษชำระ และผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและผู้ประกอบการได้ร่วมมือกันดูแลราคาสินค้าเหล่านี้มิให้เป็นภาระแก่ผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวไม่น่าเพิ่มขึ้น
ผลผลิตเกษตรกรรม ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) อุปทานที่ลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้ง และ 2) ความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในสถานการณ์ไม่ปกติ โดยเฉพาะหมวดเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อในต่างประเทศมีสัญญาณลดลง โดยเฉพาะข้าวโพด มันสำปะหลัง มะพร้าว ทุเรียน และยางพารา เป็นต้น ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์