ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2563 และเฉลี่ยระยะ 3 เดือนของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2020 13:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 104.6 เทียบกับ เดือนมีนาคม 2562 ลดลงร้อยละ 2.9 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.6 ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลง รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดซีเมนต์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ปรับลดลงร้อยละ 1.6 0.8 และ 0.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

สรุปสถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.1 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาผลิตภัณฑ์เหล็กโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กราคาถูกจำนวนมากในช่วงก่อนหน้า

1.เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนมีนาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.6 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท ปัจจัยหลักสำคัญจากราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ที่ปรับตัวลดลง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.6 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว ปริมาณงานมีน้อย การแข่งขันสูง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมัน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ โถส้วมชักโครก กระจกเงา สายฉีดชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ดังนี้ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องปูพื้นและกระเบื้องแกรนิต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ และหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน และสีรองพื้นปูน-โลหะ

2. เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.5 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากปรับราคาลดลงตามราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.5 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว ปริมาณงานมีน้อย ประกอบกับการแข่งขันสูง หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ กระจกเงา สายฉีดชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป เนื่องจากจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย เพื่อกระตุ้นยอดขาย และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของยางมะตอย ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน

3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 2.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 9.9 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กที่ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.2 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไฟล์คอนกรีต เนื่องจากการค้าชะลอตัว และปรับราคาลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว ประกอบกับตลาดแข่งขันสูง สอดคล้องกับปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบและยางมะตอย โดยเฉพาะยางมะตอยปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ เสาเข็มไม้ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู เนื่องจากราคาไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2562 และราคาทรงตัวถึงเดือนมีนาคม 2563 หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นขอ กระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบแดงและหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น คือ แม่สี

4. ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวไอ เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ชีทไพล์เหล็ก และข้อต่อเหล็ก หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ โถส้วมชักโครก กระจกเงา สายฉีดชำระ และราวจับสแตนเลส หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ดังนี้ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไฟล์คอนกรีต และ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของอลูมิเนียมแผ่นเรียบและยางมะตอย

5. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2563

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยด้านอุปสงค์ที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของการลงทุนและความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมาจากต้นทุนสินค้าในหลายรายการที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเศษเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กนำเข้า ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาในหลายสินค้าเริ่มสูงขึ้น ดังนี้

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีแนวโน้มชะลอตัวจากอุปสงค์ที่ลดลง สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่ลดลง

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ปริมาณงานน้อยลงและการแข่งขันสูงขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติเมื่อไหร่ ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหลายโครงการถูกชะลอออกไปจากแผนเดิม รวมทั้งยังส่งผลต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากได้รับผลกระทบระยะสั้นจากยอดขายในกลุ่มชาวต่างชาติที่ลดลงและการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ไม่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลาย น่าจะส่งผลให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐกลับมาดำเนินงานต่อได้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐต่างๆ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การลดอัตราดอกเบี้ย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value: LTV) ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนความต้องการของภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ