ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 37.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.5 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้าเป็นการลดลงของทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 38.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.7 ซึ่งการลดลงในเดือนนี้เป็นการลดลงในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ
การปรับตัวลดลงค่อนข้างมากของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ มีสาเหตุสำคัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19ที่มีระดับความรุนแรงสูงกว่าเดือนก่อน ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้านเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสออกมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ มาตรการดูแลและเยียวยา แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบในบางส่วนได้
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพโดยกลุ่มเกษตรกร ลดลงจากระดับ 44.3 เป็น 38.4 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 41.0 เป็น 34.1 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 43.5 เป็น 35.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 42.0 เป็น 34.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 47.7 เป็น 41.9 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 41.3 เป็น 37.3 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 40.1 เป็น 36.2 เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มพนักงานเอกชน มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ เป็นครั้งแรก คาดว่าแนวโน้มการให้หยุดพักงาน การเลิกจ้างงาน และการปิดกิจการ ที่มีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มพนักงานเอกชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มดังกล่าวกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของพนักงานโดยตรง
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากระดับ 39.8 มาอยู่ที่ระดับ 32.3 ภาคกลาง จากระดับ 44.8 มาอยู่ที่ระดับ 39.4 ภาคเหนือ จากระดับ 42.3มาอยู่ที่ระดับ 36.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 45.8มาอยู่ที่ระดับ 39.6และภาคใต้ จากระดับ 42.5 มาอยู่ที่ระดับ 36.0
เป็นที่น่าสังเกตว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดและมีความเสี่ยงสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่นดีกว่าภูมิภาคอื่น
ความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อปัญหาของประเทศในปัจจุบันพบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด 3ลำดับแรกได้แก่
- การแพร่ระบาดของไวรัส ร้อยละ 27.7
- ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 24.4
- อื่นๆ ร้อยละ 18.4
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมีนาคม 2563
พบว่าเรื่องที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุดในขณะนี้ได้แก่
- กลุ่มพนักงานของรัฐกลุ่มไม่ได้ทำงานและกลุ่มรับจ้างอิสระเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสคิดเป็นร้อยละ44.034.3 และ33.6ตามลำดับ
- กลุ่มพนักงานเอกชนเรื่องการประกอบอาชีพและการแพร่ระบาดของไวรัสคิดเป็นร้อยละ24.4
- กลุ่มเกษตรกรเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำคิดเป็นร้อยละ21.2
- กลุ่มนักศึกษาเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอื่นๆคิดเป็นร้อยละ28.7
- กลุ่มผู้ประกอบการเรื่องอื่นๆคิดเป็นร้อยละ43.4
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมีนาคม 2563
พบว่าเรื่องที่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯและปริมณฑลและภาคใต้มีความกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือภาวะเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นร้อยละ30.2และ31.7ในขณะที่เรื่องที่ผู้บริโภคในภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีความความกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือการแพร่ระบาดของไวรัสคิดเป็นร้อยละ41.531.2และ25.2 ตามลำดับ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์