ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนเมษายน 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 98.3 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 ลดลงร้อยละ 4.3 (YoY) จากการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.6 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่ โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง ยางพารา พืชผัก สุกรมีชีวิต กุ้งแวนนาไม และปลาหมึกสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าทุน หดตัวร้อยละ 2.0 9.5 และ4.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ –ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลัง –แป้งมันสำปะหลัง/ มันเส้น จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก-ข้าวสาร ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง และปาล์มสด –น้ำมันปาล์มดิบ- น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศและผลผลิตที่ลดลง
1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 4.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.2 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มแรงกดดัน ทำให้ราคาสินค้าสำคัญลดลงต่อเนื่องตามตลาดโลกและราคาวัตถุดิบ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์อะคริลิค) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล แบตเตอรี่) สำหรับส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลดลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.6 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลก
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง ยางพารา และพืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก แตงร้าน) กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม และปลาหมึกสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มะพร้าวผล อ้อย และผลไม้ (กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ สับปะรดโรงงาน) จากภาวะภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ปาล์มสด เป็นผลจากมาตรการดูดซับอุปทานส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบผ่านกลไกการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว
2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.7 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลังสด ผลปาล์มสด มะพร้าวผล และยางพารา (น้ำยางข้น เศษยาง) เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการค้าชะลอตัวจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ผลไม้ (องุ่น สับปะรดโรงงาน มะม่วง ส้มเขียวหวาน ชมพู่) กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัว กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม และปลาหมึก ปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการชะลอตัวจากปัญหาไวรัสโควิด-19 สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ข้าวเปลือกเจ้า จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 จากราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา) ตามราคาตลาดโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีอยู่มาก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงยังส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องและต้นทุนการผลิตลดลง โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก (โพลีเอทิลีน โพลีโพรพิลีน โพลีสไตรีน) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก) และก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรม (ออกซิเจน ไนโตรเจน)
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อย 9.1 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ตามราคาตลาดโลก
3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.4 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.8 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า สายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟและปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.8 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเหนียว สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ชมพู่ และกลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต ดังนี้
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม: คาดว่าจะยังคงหดตัว ตามความต้องการที่ลดลง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพารา อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ผลิตภัณฑ์เหล็ก และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (อาทิ สิ่งทอ และเครื่องประดับ) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์โลกที่ยังมีจำกัด ส่งผลให้ราคาสินค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (โดยเฉพาะ เครื่องปรับอากาศ) และอาหารแปรรูป สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคและการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้นกว่าปกติ
ผลผลิตเกษตรกรรม: คาดว่าน่าจะยังสามารถขยายตัวได้ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่ผลผลิตไม้ผลจะออกสู่ตลาดมาก โดยเฉพาะเงาะ มะพร้าว ทุเรียน ลิ้นจี่ และมังคุด ในขณะที่ความต้องการบริโภคผลไม้ไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของจีน ประกอบกับภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตในบางพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเชิงบวกให้ราคาผลไม้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาพืชบางชนิดยังมีแนวโน้มที่ลดลงตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และยางพารา สำหรับสัตว์มีชีวิตและเนื้อสัตว์ คาดว่าราคายังทรงตัว ตามแนวโน้มการส่งออกอาหารแปรรูปที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ความต้องการในประเทศจะลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวบ้างก็ตาม
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์