ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 5, 2020 10:18 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 103.6 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 ลดลงร้อยละ 4.0 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงร้อยละ 15.4 ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ 2.5 1.1 และ 0.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง

1 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 4.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว ปริมาณงานมีน้อย การแข่งขันสูง

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 15.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท ปัจจัยหลักสำคัญจากราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง

หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน และสีรองพื้นปูน-พื้นโลหะ

หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ อ่างล้างหน้าเซรามิก กระจกเงา สายฉีดชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 1.1 จากการลดลงของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ ปรับราคาลดลงตามวัตถุดิบ คือ อลูมิเนียม และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมัน

2. เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้ราคาลดลง

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.4 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัวไอ เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ และเหล็กแผ่นเรียบดำ เนื่องจากปรับราคาลดลงตามราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง

หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ กระจกเงา ที่ใส่สบู่ ฝักบัวอาบน้ำ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากหมดช่วงกิจกรรมส่งเสริมการขาย

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของยางมะตอย ลดลงตามราคาน้ำมัน

3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู เนื่องจากราคาไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2562 และราคาทรงตัวถึงเดือนเมษายน 2563

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว จากสถานการณ์โควิด-19 สอดคล้องกับปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.5 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไฟล์คอนกรีต เนื่องจากการค้าชะลอตัว และปรับราคาลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.2 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กตัวไอ เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กที่ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น คือ แม่สี

หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ โถส้วมชักโครก ราวจับสแตนเลส ราวแขวนผ้าติดผนัง และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ สแตนเลส และทองแดง

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบและยางมะตอย โดยเฉพาะยางมะตอยปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมัน

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2563

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2563 มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยด้านอุปสงค์ที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของการลงทุนและความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมาจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเศษเหล็ก รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากจำนวนผู้ค้าและการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีแนวโน้มลดลงตามความต้องการ และต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ปริมาณงานน้อยลงและการแข่งขันสูงขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างของประเทศ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหลายโครงการถูกชะลอออกไปจากแผนเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดงบประมาณปี 2563 เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และหลายโครงการยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ผู้ประกอบการจึงเน้นการระบายสต็อกเดิม และชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ในขณะเดียวกันการลดลงของยอดขายในกลุ่มชาวต่างชาติ และการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2563 ยังไม่เพิ่มขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อ อาทิ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) จูงใจกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติด้วยการออกมาตรการด้านวีซ่าเพื่อการอยู่อาศัย และการลดค่าธรรมเนียมบางประการเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ น่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป ทั้งนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ