ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2563 และไตรมาสแรกของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2020 10:21 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.6 (YoY) เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยประมาณร้อยละ 50 ของการลดลง เป็นผลมาจากราคาหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 30.0 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 2.0 และ 1.2 ตามลำดับ สินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะค่าระวางบรรทุกสินค้าทางอากาศ ปรับเพิ่มขึ้นมาก

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.2 (YoY) ต่ำสุดในรอบ 4 ปี และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้เงินเฟ้อ (CPI) ของไทย เดือนมีนาคม 2563 หดตัวร้อยละ 0.54 ชี้ว่าไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคานำเข้า (Import Deflation) โดยเฉพาะจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 32.3 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตได้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตกลับมาปรับเพิ่มปริมาณการผลิต ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ รถยนต์นั่ง และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจาก 1) การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าต่างๆ มีแนวโน้มลดลง 2) ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลง ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยังอยู่ในระดับสูง เป็นสาเหตุทำให้ราคาส่งออกในหมวดน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตาม 3) เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และการ Lock Down ของหลายประเทศ ทำให้ความต้องการอาหารสูงขึ้น 2) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดลดลง 3) ปัจจัยชั่วคราวจากราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 4) อุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งต้นทางวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และ 5) ต้นทุนการขนส่งทางอากาศปรับตัวสูงขึ้นจากจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง

อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมีนาคม 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 111.5 (เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 109.0) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีโดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผัก และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงละผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สาเหตุเนื่องจากเป็นสินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะราคาตลาดโลก และเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบไม่สามารถผลิตเองได้

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนมีนาคม ปี 2563 และไตรมาสที่ 1 ปี 2563

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 99.5 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 100.5) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 102.0 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 101.9 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 57.3

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 21.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกปิดเมืองเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.2 จากราคาน้ำตาลทรายเป็นหลัก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลง ทำให้มีการลดสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลลง และเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาลแทน ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ข้าว เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง เช่นเดียวกับไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ที่มีความเป็นไปได้ว่าโรงงานผลิตไก่อีก 12 แห่ง ในไทยจะได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากจีน ทำให้สามารถรับคำสั่งซื้อเพื่อผลิตและส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 1.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 30.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และตอบสนองความต้องการสินค้าจากทั่วโลก เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

2.3 ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นผลจากความต้องการสินค้าชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และตามความเกี่ยวเนื่องกับราคาปิโตรเลียม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ย 3 เดือน ยังน้อยกว่าเดือน มี.ค.63 เนื่องจากในเดือน ม.ค.63 ราคาน้ำมันยังขยายตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ข้าว ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยกเว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาลดลงจากคุณภาพของผลผลิต และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ

2.4 ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 10.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปรับลดราคาน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงสินค้าบางกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากอ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เนื่องจากเป็นสินค้าที่เก็บไว้ได้นาน และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ข้าว และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนมีนาคม ปี 2563 และไตรมาสที่ 1 ปี 2563

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 89.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 92.2) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 48.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 98.0 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 104.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.6

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 3.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่น ๆ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในวงกว้าง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ ปุ๋ย และทองคำ ตามความผันผวนเนื่องจากการเก็งกำไรในช่วงวัฏจักรขาขึ้น นอกจากนี้ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ราคาลดลงเช่นกัน หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และยางรถยนต์ สำหรับหมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และ และกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 4.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 32.3 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ เคมีภัณฑ์อื่น ๆ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี กาแฟ ชา เครื่องเทศ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมอื่นๆ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.3 ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 13.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี และกาแฟ ชา เครื่องเทศ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.4 ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 1.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 12.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าชะลอลงตามไปด้วยขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สำหรับหมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 111.5 (เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 109.0) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี

กลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกที่ดี และราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคานำเข้า ประกอบด้วย เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่มได้รับอิทธิพลจากต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงวัตถุดิบจำพวกสินค้าเกษตรที่มีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยลงจากปัญหาภัยแล้ง จึงส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นมากกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีราคานำเข้าสูงขึ้นมากกว่าราคาส่งออก แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยบางรายการลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่สามารถผลิตเองได้ จำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการนำมาผลิตเพื่อส่งออก หรือนำมาเพื่อบริโภคภายในประเทศ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์