ดัชนีราคาส่งออก เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.4 (YoY) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหลักจากผลของราคาหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 46.2 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ที่ร้อยละ 1.9 และ 1.5 ตามลำดับ สินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการกักตุนสินค้าไว้บริโภคยามจำเป็น ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นมาก
ดัชนีราคานำเข้า เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.3 (YoY) หดตัวต่ำสุดในรอบ 50 เดือน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 48.2 ได้แก่น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้
แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ปี 2563 คาดว่าจะยังคงปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก 1) ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตาม 2) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าอุตสาหกรรม 3) เงินบาทอ่อนค่าจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) ปัจจัยชั่วคราวจากราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 3) การผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการเปิดเศรษฐกิจบางส่วนของหลายประเทศ ทำให้การส่งออก-นำเข้าสินค้า ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร 4) ต้นทุนผู้ประกอบการจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าระวางบรรทุกสินค้าทางอากาศ
อัตราการค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 113.8 (เดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 111.5) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากคุณภาพสินค้ามีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมทั้งทองคำ ราคาส่งออกเป็นไปตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งในปัจจุบันต่ำกว่าราคานำเข้าที่มีการนำเข้าเพื่อรอการเก็งกำไรในช่วงต่อไปตามวัฏจักรราคาทองคำขาขึ้น เป็นต้น
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 98.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 99.5) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 102.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 101.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 45.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 21.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ตามสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าที่ลดลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ ข้าว เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง เช่นเดียวกับไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ราคาสูงขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางกลุ่มสินค้า โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนราคาสินค้าที่ลดลง คือ น้ำตาลทรายเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ทำให้มีการลดสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล และเพิ่มปริมาณผลิตน้ำตาลทรายแทน
2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 2.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 46.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องดื่ม ปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และตอบสนองความต้องการสินค้าจากทั่วโลก เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
2.3 เฉลี่ย ม.ค.-เม.ย. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นผลจากความต้องการสินค้าชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และตามความเกี่ยวเนื่องกับราคาปิโตรเลียม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 19.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยกเว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากคุณภาพของผลผลิต ประกอบกับมีการชะลอการส่งมอบสินค้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จ
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 86.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 89.2) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 38.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.1 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 98.2 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 103.6 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 2.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 20.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากตลาดยังกังวลกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.6 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องสำอาง และเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ ทองคำ จากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกปรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นมาเป็นทองคำแทนเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 7.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 48.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ส่งผลให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส ประกาศพร้อมร่วมเดินหน้าลดกำลังการผลิตโดยจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และกาแฟ ชา เครื่องเทศ
2.3 เฉลี่ย ม.ค.-เม.ย. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.7 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และวงจรพิมพ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี และกาแฟ ชา เครื่องเทศ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์