ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2020 14:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 103.5 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงร้อยละ 3.8 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ลดลงร้อยละ 14.9 ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดซีเมนต์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ปรับลดลงร้อยละ 2.7 1.2 และ 0.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่หดตัวต่อเนื่อง

1. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 3.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป สะท้อนจากปริมาณการผลิตซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.7 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว การแข่งขันสูง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งปรับราคาลดลง

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 14.9 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลได้ตัดงบประมาณบางส่วน เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ส่งผลให้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการต้องเลื่อนออกไป ประกอบกับวัตถุดิบเศษเหล็กยังคงปรับราคาลดลงด้วย

หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมันและสีรองพื้นโลหะ

หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก กระจกเงา และที่ใส่สบู่

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลสและท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ อิฐมอญ ทรายหยาบ และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามต้นทุน

2. เทียบกับเดือนเมษายน 2563 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป ปรับราคาลดลงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างช่วงวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเร่งระบายสินค้าเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสำหรับใช้หมุนเวียนในกิจการ

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี และท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว รวมทั้งราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง

หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของฝักบัวอาบน้ำ

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากมีความต้องการยางมะตอยเพื่อใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงทางโครงการภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น

3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู เนื่องจากราคาไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2562 และราคาทรงตัวถึงเดือนพฤษภาคม 2563

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.8 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ชีทไฟล์คอนกรีต และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากการค้าชะลอตัว และปรับราคาลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 12.0 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัวซี เหล็กตัวไอ เหล็กตัวเอช เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว รวมทั้งวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กที่ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น คือ แม่สี

หมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ สแตนเลสและทองแดง

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบและยางมะตอย โดยปรับราคาลดลงตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2563

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2563 มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยด้านอุปสงค์ที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของการลงทุนและความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมาจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเศษเหล็ก รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากจำนวนผู้ค้าและการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีแนวโน้มลดลงตามความต้องการ และต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต มีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ปริมาณงานน้อยลง การแข่งขันสูง และต้นทุนการผลิตปรับลดลง สอดคล้องกับปริมาณการผลิตซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐหลายโครงการถูกชะลอออกไปจากแผนเดิม ทั้งยังส่งผลต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ผู้ประกอบการจึงชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ในขณะเดียวกัน การลดลงของยอดขายในกลุ่มชาวต่างชาติ และการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2563 ยังไม่เพิ่มขึ้น แม้มาตรการปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ส่งผลให้มีการสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะยอดการจำหน่ายของกลุ่ม Modern Trade ก็ตาม

ทั้งนี้ การเพิ่มการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งช่วยลดภาระของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และกระตุ้นความต้องการซื้อ อาทิ การขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับที่อยู่อาศัย การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) และการพักชำระเงินต้นของลูกหนี้สินเชื่อบ้าน น่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการในภาคการก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ