ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนเมษายน 2563 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 33.3 เทียบกับระดับ 37.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 32.7 มาอยู่ที่ระดับ 28.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ลดลงจากระดับ 40.7 มาอยู่ที่ระดับ 36.8
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนนี้ มีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน และการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับภาครัฐเริ่มออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ ทั้งมาตรการทั่วไป และมาตรการเฉพาะกลุ่ม คาดว่าน่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในระยะต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมจำแนกรายสัปดาห์ พบว่า ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 และเริ่มปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3-4 โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19ที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพโดยกลุ่มรับจ้างอิสระ และกลุ่มไม่ได้ทำงาน มีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ โดยลดลงจากระดับ 34.5 เป็น 30.8 และ จากระดับ 36.2 เป็น 30.8ตามลำดับ ส่วนกลุ่มเกษตรกร ลดลงจากระดับ 38.4 เป็น 34.2 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 34.1 เป็น 32.2 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 35.1 เป็น 31.1 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 41.9 เป็น 40.8 และกลุ่มนักศึกษา จากระดับ 37.3เป็น 34.6
สาเหตุสำคัญที่กลุ่มรับจ้างอิสระ และกลุ่มไม่ได้ทำงาน มีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุดคาดว่ามาจากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงาน รวมทั้งโอกาสในการหางานทำของประชาชนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกภาคยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ความเชื่อมั่นปรับสูงขึ้น จากระดับ 32.3 มาอยู่ที่ระดับ 35.7 เป็นการสูงขึ้นของประชาชนแทบทุกกลุ่มอาชีพ (ยกเว้นกลุ่มไม่ได้ทำงานและกลุ่มนักศึกษา) สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563ของกลุ่มจังหวัดดังกล่าวอยู่ระดับต่ำ ทำให้ประชาชนคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากระดับ 39.4 มาอยู่ที่ระดับ 35.9 ภาคเหนือ จากระดับ 36.2มาอยู่ที่ระดับ 32.1ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 39.6มาอยู่ที่ระดับ 35.5และภาคใต้ จากระดับ 36.0มาอยู่ที่ระดับ 30.9
ความกังวลใจของประชาชนในปัจจุบันพบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด 5 ลำดับแรกได้แก่
- ไวรัสโควิด-19จะยืดเยื้อ ร้อยละ 31.5
- สินค้ามีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 16.5
- รายได้ลดลง ร้อยละ 15.1
- การขาดแคลนสินค้าจำเป็น ร้อยละ 11.9
- ความไม่มั่นคงในอาชีพ ร้อยละ 8.7
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนเมษายน 2563
เมื่อพิจารณาเป็นรายสัปดาห์พบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสCovid-19จะยืดเยื้อถึงแม้จะยังเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความกังวลสูงเป็นอันดับแรกแต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายสัปดาห์พบว่ามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เนื่องจากสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยสำคัญให้ประชาชนคลายความกังวลลงจากช่วงก่อนหน้า
- ความกังวลต่อการขาดแคลนสินค้าจำเป็นลดลงอย่างมีนัยสำคัญแม้ในสัปดาห์แรกจะสูงถึงร้อยละ 21.3 แต่ในสัปดาห์ที่ 4 ลดลงเป็นอย่างมาก อยู่ที่ร้อยละ 8.3 สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทำให้มีการซื้อสินค้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก สินค้าจึงขาดหายจากชั้นวางในบางช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มดีขึ้นในระยะต่อมา และภาครัฐได้ปรับมาตรการกำกับ ดูแล และผ่อนคลายระเบียบในสินค้าจำเป็นเพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอความต้องการ ส่งผลให้ความกังวลของประชาชนลดลง
- ความกังวลต่อสินค้าราคาสูงขึ้นปรับตัวลดลงจากสัปดาห์แรกที่ร้อยละ 23.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.1 ในสัปดาห์ที่ 3 แต่ในสัปดาห์ที่ 4 สูงขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ 17.2
- ความกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพ เพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 3.7 ในสัปดาห์แรก เป็นร้อยละ 10.1 ในสัปดาห์ที่ 4 เนื่องจากมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง บางกิจการต้องหยุดพักชั่วคราว ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มรับจ้างอิสระและพนักงานเอกชนมีความกังวลในด้านนี้มากกว่าอาชีพอื่น
- ความกังวลต่อรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ 1-3 โดยสัปดาห์ที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 16.3 อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ 4 ความกังวลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 14.9 ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐได้มีมาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความกังวลเรื่องรายได้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และสร้างความกังวลต่อประชาชนในหลายๆ ด้าน โดยความกังวลด้านสาธารณสุข สังคม และการดำเนินชีวิตประจำวันประชาชนเริ่มลดลง แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจกลับเพิ่มมากขึ้น
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์