ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.3 (YoY)ติดลบในอัตราน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงแนวโน้มราคามีเสถียรภาพมากขึ้นหรือกำลังผ่านจุดต่ำสุด ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเชื้อเพลิงยังคงลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 44.1 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ที่ร้อยละ 1.2 และ 0.4 ตามลำดับ สินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ข้าว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารและราคาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลของต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมาก
ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤษภาคม 2563เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.1 (YoY)หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 7.3 โดยการลดลงของราคานำเข้ายังได้รับแรงกดดันหลักจากการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ซึ่งลดลงร้อยละ 37.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกยังต่ำกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ กลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน
แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทยปี 2563 คาดว่าจะต่ำกว่าปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจาก1) เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19อาจทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญของโลกชะลอตัวต่อไป 2) ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตาม 3) เงินบาทอ่อนค่าจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่1) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) ปัจจัยชั่วคราวจากราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 3)การผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการเปิดเศรษฐกิจบางส่วนของหลายประเทศ ทำให้การส่งออก-นำเข้าสินค้าขยายตัวดีขึ้น 4) ต้นทุนผู้ประกอบการจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น
อัตราการค้าของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 111.5(เดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 113.8)ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ เนื่องจากคุณภาพสินค้ามีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมทั้งทองคำ ราคาส่งออกเป็นไปตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งในปัจจุบันต่ำกว่าราคานำเข้า ที่มีการนำเข้าเพื่อรอการเก็งกำไรในช่วงต่อไปตามวัฏจักรราคาทองคำขาขึ้น เป็นต้น
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 98.9 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนเมษายน 2563 เท่ากับ 98.9) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 101.6หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.1หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 101.8และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 46.6
2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลงแต่มีการเปลี่ยนแปลงตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตราการผ่อนคลายที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ประกอบกับกลุ่มผู้ผลิตปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 ได้แก่ ข้าว เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้เร่งนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการชะลอตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ น้ำตาลทรายตามทิศทางตลาดโลก และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากมีการเร่งการส่งออกไปแล้ว สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางกลุ่มสินค้า โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ทองคำ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง คือ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นหลัก
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 44.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามความต้องการสินค้าที่ลดลงจากมาตรการ Lockdownของหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นผลจากความต้องการสินค้าชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาปิโตรเลียมและหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 24.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัว เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์