ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2563 เท่ากับ 104.1 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 ลดลงร้อยละ 2.9 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงร้อยละ 11.5 ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลง รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ 2.5 และ 1.3 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายในประเทศ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน
สรุปสถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.6 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง ประกอบกับราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
1. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.5 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ- ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และเมทัลชีท สอดคล้องกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศที่หดตัวร้อยละ 37.2 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 ได้แก่ พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว และการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.3 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ที่หดตัวร้อยละ 3.1 และหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ขณะที่หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ใส่สบู่ ที่ปัสสาวะเซรามิก และกระจกเงา และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ คือ สแตนเลสและลวดทองแดง ที่ปรับราคาสูงขึ้น
2. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี และเหล็กรางน้ำ เนื่องจากความต้องการ ใช้ในการก่อสร้างโครงการภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก โดยเดือนนี้เริ่มปรับราคาสูงขึ้นร้อยละ 12.5 (MoM) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากมีความต้องการยางมะตอยเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณยางมะตอยลดลง จากโรงกลั่นลดกำลังการผลิต และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีตจากความต้องการใช้ ในการก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
3. เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 11.9 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดผูกเหล็ก ลวดเหล็กเสริม-คอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก เมทัลชีท ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู เนื่องจากวัตถุดิบ คือ เศษเหล็กปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมาก และตลาดภายในประเทศมีการแข่งขันสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.9 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไฟล์คอนกรีต และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะการค้าชะลอตัว ตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับราคาลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนต้องชะลอและเลื่อนออกไป ทำให้ความต้องการการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ ทรายหยาบ และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู เนื่องจากราคาไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2562 และราคาทรงตัวถึงเดือนมิถุนายน 2563 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ สแตนเลส ลวดทองแดง และหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ ปรับราคาตามต้นทุน
4. ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 3.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 14.0 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อเหล็กดำ ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท มีปัจจัยสำคัญจากเศษเหล็กที่ปรับราคาลดลง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.6 ได้แก่ พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต ปรับราคาลดลงตามต้นทุนการผลิต และการแข่งขันของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการภาครัฐขนาดใหญ่ชะลอออกไป ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ทรายหยาบ อิฐมอญ ยางมะตอย และอลูมิเนียมแผ่นเรียบ ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ สแตนเลส ลวดทอง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน-พื้นโลหะ และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา และที่ใส่สบู่
5. ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 4.6 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.3 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต และขอบคันคอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัวและวัตถุดิที่ใช้ในการผลิตปรับราคาลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนอย่างทั่วหน้า โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่รุนแรง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ ที่ปัสสาวะเซรามิก ฉากกันห้องน้ำสำเร็จรูป กระจกเงา ฝักบัวอาบน้ำ ราวแขวนผ้าติดผนัง และสายฉีดชำระ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ ทรายหยาบ อิฐมอญ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ และยางมะตอย ปรับราคาลดลงตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน
6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 3 ปี 2563
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 2 เป็นผลมาจากมาตรการปลดล็อกดาวน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้การลงทุนและความต้องการใช้ในประเทศไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่ราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะเศษเหล็ก แม้จะเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเริ่มมีการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 9 ของประเทศไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการคลายล็อกดาวน์ให้หลายธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ แต่ธุรกิจด้านก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการดำเนินธุรกิจแบบวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวสูงมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทำให้การใช้พื้นที่ส่วนกลางนั้นยากขึ้น ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ และเร่งระบายสต็อกที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มาตรการปลดล็อกดาวน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติมีโอกาสฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยลดภาระของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และกระตุ้นความต้องการซื้อ อาทิ การขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับที่อยู่อาศัย การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) การผ่อนปรน มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การพักชำระเงินต้นของลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รวมถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท น่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์