ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2020 10:09 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2563 เท่ากับ 42.5

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 42.5 เมื่อเทียบกับระดับ 38.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 32.0 มาอยู่ที่ระดับ 36.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต สูงขึ้นจากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 และเป็นการสูงขึ้นในทุกภูมิภาค และทุกอาชีพ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต

การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ คาดว่ามาจากการยกเลิกประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน และการผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ออกมาเป็นระยะๆ เนื่องจากสถานการณ์ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ ภาคธุรกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพโดยกลุ่มเกษตรกร สูงขึ้นจากระดับ 38.3 เป็น 42.3 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.5 เป็น 41.2 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 38.7 เป็น 42.5 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 35.6 เป็น 40.6 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 45.8 เป็น 49.4 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 42.5 เป็น 43.9 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 33.1 เป็น 36.5 การสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกกลุ่ม คาดว่าสาเหตุหลักมาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน อาทิเช่น มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มเปราะบาง (เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนพิการ) มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากระดับ 38.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.4 ภาคกลาง จากระดับ 39.2 มาอยู่ที่ระดับ 43.4 ภาคเหนือ จากระดับ 38.4 มาอยู่ที่ระดับ 42.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 40.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.4 และภาคใต้ จากระดับ 37.9 มาอยู่ที่ระดับ 43.4 การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีคาดว่าปัจจัยหลักมาจากผลของการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ และการลดข้อจำกัดด้านการเดินทางในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัวในทุกภูมิภาค และเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมิถุนายน 2563

ผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.4
  • รายได้ของกิจการลดลง ร้อยละ 19.8
  • การเดินทางมีความยากลำบากมากขึ้น ร้อยละ 19.5
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมิถุนายน 2563

กิจกรรมที่ผู้บริโภคทำเพิ่มขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคทำเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

  • การใช้จ่ายด้านสุขอนามัย ร้อยละ 32.4
  • การทำธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคลออนไลน์ ร้อยละ 18.6
  • การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ร้อยละ 16.1

การเดินทางไปพักผ่อน/ท่องเที่ยวต่างจังหวัดพบว่า โดยปกติแล้วผู้บริโภคเดินทางไปพักผ่อน/ท่องเที่ยวต่างจังหวัด มีความถี่ไม่แน่นอน คิดเป็นร้อยละ 71.1 รองลงมาได้แก่ เดือนละ 1 ครั้ง ร้อยละ 13.6 ,2-3 เดือน/ครั้งร้อยละ 12.7 และเดือนละหลายครั้ง ร้อยละ 2.6

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ