ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกรกฎาคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 99.5 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงร้อยละ 2.5 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะ โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก มะพร้าวผล และอ้อย จากภาวะภัยแล้ง ผลปาล์มสด จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น สุกร/ไก่มีชีวิต และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าวัตถุดิบ หดตัวร้อยละ 0.3 6.8 และ 4.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ –ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลัง –แป้งมันสำปะหลัง/ มันเส้น/มันอัดเม็ด จากภาวะการค้าชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก –ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว -แป้งข้าวเจ้า และสับปะรดโรงงาน-น้ำสับปะรด/สับปะรดกระป๋อง ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง
1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.5 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.3 จากสินค้าสำคัญที่ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลกและราคาวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) ส่วนกลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและการปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มะพร้าวผล และอ้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ สุกร/ไก่มีชีวิต ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด ยางพารา พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักกาดหัว พริกชี้ฟ้าสด แตงร้าน มะระจีน) และผลไม้ (มะม่วง มังคุด ส้มเขียวหวาน ทุเรียน เงาะ ลำไย มะละกอ) เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ยางพารา (ยางแผ่นดิบ เศษยาง) มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้มีฝนตกชุก ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มังคุด ทุเรียน เงาะ กล้วยไข่) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น มะพร้าวผล และพืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักกาดหัว พริกชี้ฟ้าสด มะระจีน) จากความต้องการบริโภคชะลอตัว ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ตามราคาตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์สด (สุกร ไก่ เป็ด) เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการคลายล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเนื้อสุกรและไก่สด กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และยางมะตอย ตามราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง ประกอบกับความต้องการเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ตามราคาวัตถุดิบ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วนของรถรุ่นเดิม และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก
3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.4 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า สายเคเบิล และสายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 และน้ำมันเตา กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก และถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย และด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 12.8 จากสินค้าสำคัญกลุ่มปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่โลหะ ได้แก่ ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก และวุลแฟรม ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า และชมพู่ กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2563
ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าเริ่มมีมากขึ้น แต่อุปสงค์โดยรวมยังคงมีไม่มากนัก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังคงหดตัว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม ยอดการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หลายรายการเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์อุปสงค์ และการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รวมถึงค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตได้ในระยะหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสุขภาพ ขณะที่อุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเกษตรบางประเภท ยังคงไม่ฟื้นตัวซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวในระยะถัดไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์