ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2020 15:05 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฏาคม 2563เท่ากับ 101.99

เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ
          1. เดือนกรกฎาคม2562 (YoY)               ลดลง     -0.98
          2. เดือนมิถุนายน 2563 (MoM)               สูงขึ้น      0.66
          3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. -ก.ค.) ปี 2563     ลดลง      -1.11

เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA)

Highlights

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฏาคม 2563เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ -0.98 (YoY)หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ -1.57 จากการสิ้นสุดมาตรการเยียวยาจากภาครัฐในการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาช่วงโควิด-19 และราคาพลังงานที่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ -10.91 ขณะที่อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 0.04 หลังลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 เดือน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอมและธุรกิจร้านอาหารที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับการเกิดโรคระบาดในสุกรของประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการสูงขึ้นจากราคาอาหารบริโภคนอกบ้าน (ไก่ทอด พิซซ่า) และของใช้ส่วนบุคคลอื่นๆ จากการสิ้นสุดโปรโมชั่น ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว สูงขึ้นร้อยละ 0.39 เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -1.11 (AoA)และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.34 (AoA)

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 (YoY)ลดลงร้อยละ -0.98

โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*

  • หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -1.87 จากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ -5.12 จากการงดเก็บค่าผ่านทางพิเศษระหว่างวันที่ 24-29กรกฎาคม 2563และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดที่ลดลงร้อยละ -16.09ส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานลดลงร้อยละ-10.91 หมวดเคหสถาน(ก๊าซหุงต้ม) ลดลงร้อยละ -0.06 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยืด/เสื้อเชิ้ตบุรุษ กางเกงขายาวเด็ก) ลดลงร้อยละ -0.04การสื่อสาร(เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ -0.04 หมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษาฯ(ค่าทัศนาจรใน-ต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม) ลดลงร้อยละ -0.21 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(เบียร์) ลดลงร้อยละ -0.02 ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน แชมพู น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สูงขึ้นร้อยละ 1.17 และค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด ค่าโดยสารเครื่องบิน) สูงขึ้นร้อยละ 0.32
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.55 จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว) สูงขึ้นร้อยละ 5.17 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ปลาหมึกกล้วย) สูงขึ้นร้อยละ 1.50 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม น้ำปลา) สูงขึ้นร้อยละ 3.43 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.63 อาหารบริโภค-ในบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.57 จากราคากับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ที่ปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ และอาหารบริโภค-นอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.71 จากอาหารเช้า ข้าวราดแกง และอาหารตะวันตก (ไก่ทอด พิซซ่า) ที่สิ้นสุดโปรโมชั่น ขณะที่สินค้าปรับตัวลดลง ได้แก่ ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง) ลดลงร้อยละ -0.54 หมวดผักและผลไม้ลดลงร้อยละ -5.06 จากปริมาณผลผลิตที่ออกมาในช่วงสภาพอากาศที่เหมาะสม ประกอบด้วยผักสด (พริกสด มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) ลดลงร้อยละ -3.91 ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง) ลดลงร้อยละ -7.56
2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563(MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.66โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.50 ตามการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ขนมอบ วุ้นเส้น) ร้อยละ 0.05 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ไก่สด ไก่ย่าง) สูงขึ้นร้อยละ 1.81 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมผง) สูงขึ้นร้อยละ 1.52 ผลไม้สด (เงาะ ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน) สูงขึ้นร้อยละ 3.17 เครื่องประกอบอาหาร(ซีอิ๊ว กะทิสำเร็จรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.34 อาหารบริโภค-ในบ้าน(ก๋วยเตี๋ยว ยำประเภทต่าง ๆ) สูงขึ้นร้อยละ 0.07 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน(ข้าวราดแกง อาหารเย็น-อาหารตามสั่ง) สูงขึ้นร้อยละ 0.40 ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(กาแฟ (ร้อน/เย็น) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ลดลงร้อยละ -0.06และผักสด (ถั่วฝักยาว ต้นหอม มะนาว แตงกวา ผักชี มะเขือ) ลดลงร้อยละ -3.89
  • หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.76 โดยมีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นคือ หมวดเคหสถาน(ค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยารีดผ้า) สูงขึ้นร้อยละ 1.63 หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.44จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ยกเว้นก๊าซเติมยานพาหนะ LPGและ NGVหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยกทรง กางเกงขายาวสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.03 การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(โฟมล้างหน้า ผ้าอนามัย ยาแก้ไข้หวัด) สูงขึ้นร้อยละ 0.01 และ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(เบียร์) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 ขณะที่สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารเครื่องบิน) ลดลงร้อยละ -0.05 และ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม) ลดลงร้อยละ -0.01 ส่วนหมวดการสื่อสารราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. -ก.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA)ลดลงร้อยละ -1.11โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
  • หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -2.32 ตามการลดลงของหมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) ลดลงร้อยละ -1.64 หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -4.80 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -15.84 และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.04 ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เสื้อยืดสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.07 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน) สูงขึ้นร้อยละ 0.38 ค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้) สูงขึ้นร้อยละ 3.19 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียนค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.27 ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.00 ตามการสูงขึ้นของข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 6.82 จากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ปลานิล ปลาดุก ปลาทู) สูงขึ้นร้อยละ 1.55 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ไข่เป็ด นมสด) สูงขึ้นร้อยละ 1.37 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา ซอสหอยนางรม) สูงขึ้นร้อยละ 2.79เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต น้ำดื่มบริสุทธิ์) สูงขึ้นร้อยละ 2.07 อาหารบริโภค-ในบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) สูงขึ้นร้อยละ 0.69 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเช้า ข้าวราดแกงอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) สูงขึ้นร้อยละ 0.43 ขณะที่สินค้าในหมวดผักและผลไม้ลดลงร้อยละ-3.17 ประกอบด้วยผักสด (พริกสด มะนาว ต้นหอม กะหล่ำปลี มะเขือเทศ) ลดลงร้อยละ -6.36และผลไม้สด (เงาะ มะม่วง ลองกอง มังคุด) ลดลงร้อยละ -2.47
4. การเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค ดังนี้

ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาคพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงในทุกภาค โดยมีลำดับการปรับตัวลดลง ดังนี้

          (1) ภาคใต้                     ลดลงร้อยละ 1.74
          (2) ภาคกลาง                   ลดลงร้อยละ 1.04

(3) กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดลงร้อยละ 0.90

          (4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ        ลดลงร้อยละ 0.83
          (5) ภาคเหนือ                   ลดลงร้อยละ 0.53

รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาจำแนกรายภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามแรงกดดันของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด จากผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาเนื้อสุกรเป็นปัจจัยบวกในทุกภูมิภาคจากการขยายการส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับอิทธิพลจากอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

5. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2563

อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2563มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งการคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งโครงการที่สนับสนุนค่าเดินทางท่องเที่ยวของอาสาสมัครสาธารณสุข ค่าที่พักและการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในสถานที่ท่องเที่ยว อันจะส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้อง และกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และความต้องการใช้น้ำมันของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบผันผวน ซึ่งจะกระทบต่อสถานการณ์ราคาและเงินเฟ้อภายในประเทศได้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ (-1.5) -(-0.7) (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1) โดยมีสมมติฐานปี 2563 ดังนี้

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในช่วง35-45เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
  • อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวระหว่าง30.5-32.5บาท/เหรียญสหรัฐ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)หดตัวร้อยละ(-8.6)-(-7.6)(อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ