ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 41.0 เมื่อเทียบกับระดับ 42.5 ในเดือนก่อนหน้า จากการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 36.0 มาอยู่ที่ระดับ 35.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ลดลงจากระดับ 46.9 มาอยู่ที่ระดับ 44.5 และเป็นการลดลงในทุกภูมิภาค
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ คาดว่ามาจากการที่ประชาชนมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในระลอกที่ 2 ซึ่งแม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี แต่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังประสบปัญหาการระบาดระลอกที่ 2 ประกอบกับความผันผวนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ถึงแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังต้องพึ่งพาเฉพาะนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อดูแลประชาชนและภาคธุรกิจรวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ในระยะต่อไป
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกกลุ่มอาชีพโดยกลุ่มเกษตรกร ลดลงจากระดับ 42.3 เป็น 42.1 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 41.2 เป็น 38.0 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 42.5 เป็น 40.7 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 40.6 เป็น 39.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 49.4 เป็น 48.6 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 43.9 เป็น 41.4 ในขณะที่กลุ่มไม่ได้ทำงาน ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 36.5เป็น 38.2
การสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มไม่ได้ทำงาน คาดว่าน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับในเดือนนี้
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากระดับ 42.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 ภาคกลาง จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 ภาคเหนือ จากระดับ 42.5 มาอยู่ที่ระดับ 34.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 44.4 มาอยู่ที่ระดับ 44.0 และภาคใต้ จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในขณะที่ภาคเหนือมีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ค่อนข้างกังวล คิดเป็นร้อยละ 49.5 กังวลมาก ร้อยละ 34.0 ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 14.3 และมีผู้บริโภคที่ไม่กังวลเลย คิดเป็นร้อยละ 2.2
การให้ความสำคัญกับการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การใส่หน้ากาก การล้างมือ การใช้แอลกอฮอล์พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 49.7 เท่าเดิม ร้อยละ 44.3 สำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญลดลง มีเพียงร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับผลการสำรวจความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ที่ผู้บริโภคกังวลถึงร้อยละ 83.5 ชี้ว่าประเด็นด้านสุขอนามัยเป็น New Normal ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและแนวโน้มของธุรกิจด้านนี้
ผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า เรื่องที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.4
- รายได้ของกิจการลดลง ร้อยละ 20.0
- การเดินทางมีความยากลำบากมากขึ้น ร้อยละ 17.0
แนวโน้มการท่องเที่ยวต่างจังหวัดของผู้บริโภคในช่วง3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่าไม่แน่นอน คิดเป็นร้อยละ 71.0 เดือนละ 1 ครั้ง ร้อยละ 16.1 2-3 เดือน/ครั้ง ร้อยละ 9.3 สำหรับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มท่องเที่ยวมากกว่าเดือนละครั้งคิดเป็นร้อยละ 3.6
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์