ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2563 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2020 12:55 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกันยายน 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 100.0 เทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 1.3 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งทอ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลังสด อ้อย ผลปาล์มสด และยางพารา จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง เป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อปริมาณน้ำในการเพาะปลูก รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.4 สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าวัตถุดิบ หดตัวร้อยละ 5.5 และ 0.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือก - ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว อ้อย ? น้ำตาลทรายดิบ - น้ำตาลทรายขาว ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ - ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง และผลปาล์มสด ?น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ

1. เทียบกับเดือนกันยายน 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก ปุ๋ย) ตามราคาตลาดโลกและความต้องการใช้ที่ลดลง กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) จากคำสั่งซื้อลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากสินค้าสำคัญกลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลังสด อ้อย พืชผัก (แตงกวา ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหัว ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก มะระจีน) และผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง จากปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และเกิดภาวะอุทกภัยในบางพื้นที่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในประเทศเพื่อระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ยางพารา เนื่องจากมาตรการแก้ปัญหาราคายางของภาครัฐ ประกอบกับสต็อกยางปรับลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งออกปรับตัวดีขึ้น กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาทูสด ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม เกษตรกรได้ปรับลดพื้นที่เพาะเลี้ยง

2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 (MoM) ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีฝนตกชุก เกษตรกรจึงชะลอการเก็บเกี่ยวทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง มันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาล ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้น ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากมาตรการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ขณะที่ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีแนวโน้มลดลง ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากฝนตกชุกในพื้นที่เพาะปลูก ผลไม้ (องุ่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน) เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น จากประเทศที่บริโภคสุกรรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาทิ ประเทศจีนและประเทศเวียดนาม จึงมีคำสั่งซื้อเพื่อนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มปลาและสัตว์น้ำปรับตัวลดลง ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการบริโภคชะลอตัว

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ตามราคาตลาดโลก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา ยางมะตอย ตามราคาตลาดโลก เนื่องจากความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ข้าวนึ่ง ปลายข้าว มันเส้น มันอัดเม็ด ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ตามราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรที่ใช้ในการผลิต ไม้ยางพารา กระดาษพิมพ์เขียน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.1 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.2 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า สายเคเบิล และสายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 และน้ำมันเตา กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก และถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย และด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 13.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า และชมพู่ กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ และกลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง และปลาหมึกกล้วย

4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 1.7 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายเคเบิล และแผงวงจรไฟฟ้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย และด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี)

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ผลปาล์มสด อ้อย มะพร้าวผล ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน/บริโภค กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ชมพู่) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาทูสด ปลาลัง ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาหมึกกล้วย

5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 1.4 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา ผลไม้ (ทุเรียน สับปะรดโรงงาน/บริโภค ลำไย ส้มเขียวหวาน เงาะ กล้วยน้ำว้า) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาทูสด ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมึกกล้วย และหอยแครง

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ได้แก่ เนื้อสุกร กากถั่วเหลือง กากรำข้าว ปลายข้าว รำข้าวขาว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทรายดิบ และกากน้ำตาล กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงมือยาง กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับ

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ

6. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2563

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 คาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ราคาผู้ผลิตน่าจะยังคงหดตัวต่อไปเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า ค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวในภาคการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมปรับตัวได้ดี แต่ยังคงมีความผันผวนด้านราคาตามปริมาณผลผลิตและความต้องการซื้อในตลาด อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าอุปสงค์ในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีวันหยุดยาวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบกับมีเทศกาลประจำปีค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมจะปรับปรุงโครงสร้าง จับคู่ธุรกิจและสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ซึ่งภาครัฐถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการชี้นำและส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่เหมาะสมตามกระแสของโลกในอนาคต

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ