ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2020 12:59 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 45.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.1 เทียบกับระดับ 43.0 ในเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบปี เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่กลับเข้าสู่ช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่าระดับ 50) ได้อีกครั้งในรอบ 11 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในหลายสาขา ประกอบกับสถานการณ์ Covid-19ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกภูมิภาคโดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 37.9 มาอยู่ที่ระดับ 44.8ภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.0 มาอยู่ที่ระดับ 46.2ภาคเหนือ จากระดับ 42.3 มาอยู่ที่ระดับ 43.7ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 44.8 มาอยู่ที่ระดับ 46.1และภาคใต้ จากระดับ 43.1 มาอยู่ที่ระดับ 45.5เป็นที่น่าสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค คาดว่ามาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และสุกร สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะเป็นผลจากการชุมนุมที่ผ่อนคลายลง และไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกกลุ่มอาชีพยกเว้นกลุ่มไม่ได้ทำงาน (ดัชนีลดลงจาก 37.8 เป็น 36.8) โดยกลุ่มเกษตรกร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.2 เป็น 45.7 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 41.5 เป็น 44.2 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 42.8 เป็น 45.5 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 40.5 เป็น 42.6 กลุ่มพนักงานของรัฐจากระดับ 49.2 เป็น 50.2 และกลุ่มนักศึกษาจากระดับ 39.5 เป็น 42.8

ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและอื่นๆ

การเดินทางในช่วงวันหยุดยาว (เดือนกรกฎาคม -กันยายน 2563)

ประชาชนเดินทางในช่วงวันหยุดยาว ในเวลาดังกล่าว เพียงร้อยละ 27.4 โดยมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวร้อยละ 56.0 และกลับภูมิลำเนา ร้อยละ 44.0 และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่เกิน 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 86.1 (ต่ำกว่า 5,000 บาทมากที่สุด ร้อยละ 48.4 รองลงมาเป็น 5,000-10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.7) และใช้จ่ายเกิน 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 สำหรับสาเหตุที่ประชาชนไม่เดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากต้องประหยัดเงินและไม่อยากไปไหน (ชอบพักผ่อนอยู่บ้าน) มีสัดส่วนรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 85.2 (ร้อยละ 55.7 และ 29.5ตามลำดับ) ในขณะที่ไม่ทราบว่าจะไปที่ไหน/ไม่มีข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 14.8

การเดินทางในวันหยุดยาวเดือนตุลาคม 2563

สำหรับในวันหยุดยาวเดือนตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ส่วนใหญ่ไม่มีแผนการเดินทางไปต่างจังหวัดร้อยละ 47.7 รองลงมา คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 40.6 และสุดท้ายคือ มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดร้อยละ 11.7

ความกังวลของผู้บริโภค

ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องของ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 เป็นอันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 40.1 รองลงมา คือ ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 17.2 และลำดับที่ 3 เป็นภาระหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ 14.4

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ