ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2563 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2020 15:02 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2563 ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 25.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะความต้องการสินค้าคงทนที่ลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงมาก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และข้าว ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2563 ลดลงร้อยละ 1.4 (YoY) โดยเฉพาะจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดสินค้าทุน ตามลำดับ

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงที่เหลือของปี โดยมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 ในประเทศสำคัญ ทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญของโลกชะลอตัว 2) ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 3) ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยธรรมชาติส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) การปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวของราคาทองคำ 3) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร และ 4) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 100.5 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (MoM) แต่มีหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น จากผลผลิตสินค้าสำคัญลดลง และตามทิศทางสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดโลก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และบางพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามราคาสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ปรับลดลง เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า อุปสงค์ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบหลังความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย (ราคาเริ่มชะลอลงหลังจากเร่งสูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า) สิ่งปรุงรสอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ

1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2563 เทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 25.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะความต้องการสินค้าคงทนที่ลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงมาก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และข้าว ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.0 (AoA) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 25.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นผลจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ ข้าว ไก่ และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

1.4 ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 0.7 (ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 2.1) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 24.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง ตามความต้องการสินค้าจากตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.1 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ขณะที่อ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ ไก่ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ข้าว และสินค้ากสิกรรมอื่น ๆ ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

1.5 ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.2) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 21.3 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ที่ราคาฟื้นตัวชัดเจน หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตของประเทศบราซิลลดลง หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง กุ้ง และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เม็ดพลาสติก ฟื้นตัวตามราคาน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 91.9 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.3 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 4.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ความต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เลนส์ แว่นตาและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ ปลาทูน่าสด ตามความต้องการส่งออกอาหารกระป๋องที่ขยายตัวได้ดี แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศที่ชะลอลง ด้านกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไม่ได้

2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2563 เทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 1.4 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 19.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีการผลิตสินค้ารุ่นใหม่และเทคโนโลยีสูงขึ้นเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งรุ่นที่ใช้ 5 G และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามกระแสความต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New normal)

2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 เทียบกับปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.6 (AoA) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 23.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ ทองคำ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์โลหะ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และยานพาหนะอื่น ๆ ซึ่งทิศทางตรงข้ามกับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ สะท้อนถึงสินค้านำเข้าเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นโมเดลหรือกลุ่มสินค้าที่แตกต่างกันกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

2.4 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 1.6 (YoY) (ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 5.0) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 18.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป สาเหตุของการปรับตัวครั้งนี้เกิดจากความต้องการน้ำมันในธุรกิจการบินที่ยังไม่ฟื้นตัว และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.6 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

2.5 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 3.5 (QoQ) (ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.3) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามความต้องการบริโภคน้ำมันในภาคการผลิต บริการ และการขนส่งเริ่มปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ค่อย ๆ ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ โดยมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนกันยายน 2563

อัตราการค้าของไทยในเดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 109.4 (เดือนสิงหาคม 2563 เท่ากับ 109.0) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ