ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 5, 2020 15:12 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม2563 เท่ากับ 102.23

Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.50(YoY)ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.70 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ประกอบกับผลผลิตพืชผักได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ อีกทั้งราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้ยังหดตัว แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ปรับตัวลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ

เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.19 และเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.94 (AoA)และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.31 (AoA)

1. เทียบกับเดือนตุลาคม 2562 (YoY)ลดลงร้อยละ -0.50

โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

*หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -1.70 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ร้อยละ -13.82 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -4.32 นอกจากนี้ หมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษาฯลดลงร้อยละ -0.24จากการลดลงของค่าทัศนาจรและค่าห้องพักโรงแรม หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -0.21 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลลดลงเล็กน้อยร้อยละ -0.08 ในขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าสูงขึ้นร้อยละ 0.21 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.07

*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.57 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำร้อยละ 3.53 จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร ร้อยละ 15.54 กระดูกซี่โครงหมู ร้อยละ 12.51 ปลาหมึกกล้วย ร้อยละ 3.05 และไก่สด ร้อยละ 1.04 นอกจากนี้ กลุ่มผักสดสูงขึ้นร้อยละ 13.54 จากการสูงขึ้นของผักสดเกือบทุกชนิด อาทิ ผักชี มะเขือ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า เป็นต้น กลุ่มผลไม้สดสูงขึ้นร้อยละ 0.33 จากการสูงขึ้นของ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ทุเรียน องุ่น สับปะรด เป็นสำคัญ กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.54จากการสูงขึ้นของ น้ำมันพืช ขนมหวาน ซอสหอยนางรม กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.94 จากการสูงขึ้นของ น้ำอัดลม น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านและอาหารบริโภค-นอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.44และ 0.68ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลงร้อยละ -1.76 ตามการลดลงของ ข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า และกลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ -1.20ตามการลดลงของ ไข่ไก่ นมสด เป็นสำคัญ

2. เทียบกับเดือนกันยายน 2563(MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.05โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.05 ตามการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มผักสด(ผักบุ้ง มะเขือ ผักคะน้า) ร้อยละ 3.75 กลุ่มผลไม้สด(มะม่วง ชมพู่ มะละกอสุก) ร้อยละ 0.77 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำดื่ม เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) ร้อยละ 0.09 และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านอาหารเย็น(อาหารตามสั่ง) ร้อยละ 0.01 ในขณะที่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมปังปอนด์) ลดลงร้อยละ-0.60 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ(ไก่ย่าง ไก่สด หอยลาย) ลดลงร้อยละ -0.68 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมสด) ลดลงร้อยละ -0.79 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส กะทิสำเร็จรูป) ลดลงร้อยละ -0.10 และกลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน(อาหารโทรสั่ง) ลดลงร้อยละ -0.04

*หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 0.18 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ร้อยละ 0.61 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวบุรุษ) ร้อยละ 0.04 ในขณะที่ หมวดเคหสถาน(ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างจาน) ลดลงร้อยละ -0.02 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(โฟมล้างหน้า สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย) ลดลงร้อยละ -0.05 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(เครื่องถวายพระ) ลดลงร้อยละ -0.03 สำหรับหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

3. เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค. -ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA)ลดลงร้อยละ -0.94โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

*หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -2.16 จากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -4.74 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -15.48 และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.05 รวมทั้ง หมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) ลดลงร้อยละ -1.20 ในขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เสื้อยืดสตรี รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ) สูงขึ้นร้อยละ 0.08 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(ยาสีฟันค่าแต่งผมชาย แชมพู) สูงขึ้นร้อยละ 0.31 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.12 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(สุรา ไวน์) สูงขึ้นร้อยละ 0.01

*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.17 จากการสูงขึ้นของกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 4.56 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ปลาดุก ปลาทู) สูงขึ้นร้อยละ 2.08 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ไข่เป็ด) สูงขึ้นร้อยละ 0.81กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ขนมหวาน มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) สูงขึ้นร้อยละ 2.73 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.90 กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) สูงขึ้นร้อยละ 0.63 และกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเช้า ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง) สูงขึ้นร้อยละ 0.53 ในขณะที่สินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ลดลงร้อยละ-1.01โดยผักสด (พริกสด มะนาว มะละกอดิบ) ลดลงร้อยละ -0.84 และผลไม้สด (มะม่วง ส้มเขียวหวาน เงาะ) ลดลงร้อยละ -2.38

4. การเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาคเดือนตุลาคม 2563 ดังนี้

รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาจำแนกรายภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือหดตัวน้อยลง จากการสูงขึ้นของราคากลุ่มผัดสด โดยพื้นที่เพาะปลูกบางพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและมีความต้องการในช่วงเทศกาลกินเจ ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่หดตัวน้อยลง ส่งผลให้เงินเฟ้อของกรุงเทพฯ/ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือหดตัวที่ร้อยละ -0.31-0.36และ -0.61ตามลำดับ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ หดตัวมากกว่าภาคอื่น ๆ จากปัจจัยอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่าภาคอื่น ๆ

5. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2563

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะหดตัวในอัตราที่น้อยลง ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งกำหนดให้มีวันหยุดราชการกรณีพิเศษเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะทำให้เกิดการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ (-1.5) -(-0.7) (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1) โดยมีสมมติฐานปี 2563 ดังนี้

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบ เคลื่อนไหวในช่วง 35 -45เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
  • อัตราแลกเปลี่ยน เคลื่อนไหวระหว่าง 30.5 -32.5บาท/เหรียญสหรัฐ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)หดตัวร้อยละ (-8.6) -(-7.6)(อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ