Highlights อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ -0.41 (YoY) เป็นการหดตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เป็นผลจากสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.09 โดยเฉพาะผักสด และเนื้อสัตว์ ที่ยังสูงขึ้นถึงร้อยละ 17.28 และ 10.56 ตามลำดับ ขณะที่สินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวดีขึ้นและหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือนสำหรับสินค้ากลุ่มอื่นๆ ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวเล็กน้อยตามการส่งเสริมการขายของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า เมื่อหักอาหารสดและพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.18 และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ-0.90 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.29 (AoA)
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ -1.64 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ร้อยละ -13.30 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -4.18 รวมทั้งหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯลดลงร้อยละ -0.24 จากการลดลงของค่าทัศนาจรและค่าห้องพักโรงแรม เป็นสำคัญ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ-0.18 จากราคาเสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยกทรง เป็นต้น และหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -0.15 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ในขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.08และ 0.04ตามลำดับ
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.70 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มผักสดร้อยละ 17.28โดยราคาผักสดสูงขึ้นเกือบทุกชนิด เนื่องจากฐานราคาของเดือนนี้ในปีที่แล้วลดลงถึง ร้อยละ -5.43 นอกจากนี้ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำสูงขึ้นร้อยละ 3.85 จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร ร้อยละ 14.84 ทั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออกสุกร กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้นร้อยละ 0.18 จากการสูงขึ้นของไข่ไก่ ร้อยละ 0.80 และนมผง ร้อยละ 0.86 กลุ่มผลไม้สดสูงขึ้นร้อยละ 1.00 จากการสูงขึ้นของกล้วยน้ำว้าฝรั่ง ทุเรียน องุ่น และสับปะรด เป็นสำคัญ กลุ่มเครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ2.46 จากการสูงขึ้นของน้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)ซอสหอยนางรม กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.14จากการสูงขึ้นของน้ำดื่ม น้ำผลไม้ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มกลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้าน และอาหารบริโภคนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.32 และ 0.70ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีเพียงสินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งที่ลดลงร้อยละ -3.39ตามการลดลงของราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากข้าวฤดูกาลใหม่เริ่มออกสู่ตลาดและปริมาณการส่งออกที่ลดลง
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.23 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มผักสด(ผักชี มะเขือเทศ ผักคะน้า) ร้อยละ -2.75 กลุ่มผลไม้สด(ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก มะม่วง) ร้อยละ -1.33 กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) ร้อยละ -1.55 ในขณะที่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ(ไก่ย่าง ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม) สูงขึ้นร้อยละ 0.13 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้นร้อยละ 1.12 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป กะปิ) สูงขึ้นร้อยละ 0.31 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้) สูงขึ้นร้อยละ 0.06 และกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเช้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.03 สำหรับกลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.07 จากการสูงขึ้นหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.23 หมวดเคหสถาน(ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) สูงขึ้นร้อยละ 0.03 และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ(อาหารเลี้ยงสัตว์) ในขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวบุรุษ) ลดลงร้อยละ -0.08 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(โฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ลดลงร้อยละ -0.14 สำหรับหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -2.12 จากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -4.68 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -15.29 และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.04 รวมทั้งหมวดเคหสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) ลดลงร้อยละ-1.10 ในขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เสื้อยืดสตรี เครื่องแบบนักเรียนมัธยม) สูงขึ้นร้อยละ 0.06 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(ยาสีฟันค่าแต่งผมชาย แชมพู) สูงขึ้นร้อยละ 0.29 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.09 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(สุรา) สูงขึ้นร้อยละ 0.01
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.22 จากการสูงขึ้นของกลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 3.80 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมูปลาดุก ปลาทู) สูงขึ้นร้อยละ 2.25 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ไข่เค็ม) สูงขึ้นร้อยละ 0.74 กลุ่มผักสด (ผักชี ผักคะน้า ขิง) สูงขึ้นร้อยละ 0.67 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) สูงขึ้นร้อยละ 2.71กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.75 กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่องก๋วยเตี๋ยว) สูงขึ้นร้อยละ 0.61 และกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้าน(อาหารเช้า อาหารกลางวัน เช่น ข้าวราดแกง อาหารเย็น เช่น อาหารตามสั่ง) สูงขึ้นร้อยละ 0.54 อย่างไรก็ตาม มีเพียงสินค้ากลุ่มผลไม้สด (มะม่วง ส้มเขียวหวาน เงาะ) ที่ลดลงร้อยละ -2.08
ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาคเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า มีความเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับปีก่อน ยังคงติดลบ รวมทั้งราคาข้าวสารเจ้าที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ สินค้าในกลุ่มผักสดและเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นในทุกภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคกรุงเทพฯ และปริมณฑล หดตัวน้อยที่สุด ที่ร้อยละ-0.24 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ร้อยละ -0.29 ภาคเหนือ ร้อยละ -0.44 ภาคตะวันออกเฉียงหนือ ร้อยละ -0.77ในขณะที่ภาคใต้หดตัวมากที่สุด ร้อยละ -0.88
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ตามความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบ ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.87+ไม่เกิน 0.02 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -1.5ถึง -0.7(ค่ากลางอยู่ที่ -1.1) ตามสมมติฐาน ดังนี้
*ราคาน้ำมันดิบดูไบ เคลื่อนไหวในช่วง 35 -45เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
*อัตราแลกเปลี่ยน เคลื่อนไหวระหว่าง 30.5 -32.5บาท/เหรียญสหรัฐ
*ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)หดตัวร้อยละ (-8.6) -(-7.6)(อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย)
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์