ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 105.1 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สองหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ตามต้นทุนวัตถุดิบและความต้องการที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตยังคงลดลง เนื่องจากยังมีภาวะสินค้าล้นตลาด จากการที่ภาคการก่อสร้างยังคงซบเซา แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากโครงการก่อสร้างภาครัฐ
1. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของบานประตู และวงกบหน้าต่าง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่สองหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กตัว H เหล็กฉาก ข้อต่อเหล็ก ลวดเหล็ก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นเรียบดำ เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาเศษเหล็ก ในขณะที่ปีที่ผ่านมีราคาต่ำ ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน และสีรองพื้นโลหะ หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของกระจกเงา โถส้วมชักโครก และราวจับสแตนเลส หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ถังเก็บน้ำสแตนเลส และถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส ซึ่งราคาสูงขึ้นตามต้นทุน และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ซึ่งยังคงเป็นผลต่อเนื่องจากการลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 ยังคงเป็นการลดลงต่อเนื่องของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวะการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นก็ตาม และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.2 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีตถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ยังคงลดลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เกิดการแข่งขันสูง
2. เทียบกับเดือนตุลาคม 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลม ผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู และข้อต่อเหล็ก ตามการสูงขึ้นของราคาเศษเหล็กในตลาดโลก และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และท่อพีวีซี ซึ่งปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของราคายางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลง ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์
3. เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับการแข่งขันที่สูงอันเกิดจากการเร่งระบายสินค้าของผู้ประกอบการ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.0 ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคานคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องจากภาวะการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 8.6 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็กดำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อสแตนเลส ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจตุรัส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะปู เมทัลชีท ลวดเหล็ก และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ ไม้ฝา ไม้แบบ วงกบหน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว วงกบประตู บานประตู และไม้พื้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ กระเบื้องแกรนิต ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ สีรองพื้นปูน-โลหะ สีเคลือบน้ำมัน และซิลิโคน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสูงขึ้นจากสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส-สแตนเลส และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ ยางมะตอย ซึ่งยังคงเป็นผลจากการลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์
4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม ปี 2563
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม ปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ และต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาเศษเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างบางประเภทยังคงมีมากกว่าความต้องการ ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อระบายสินค้า ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง และราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก
สภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งทางการเมือง และมาตรการของสถาบันการเงินที่ยังเข้มงวด เป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในปีนี้ ส่งผลให้มีการเร่งซื้อ-ขายกันมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการเร่งส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ รวมทั้งโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ น่าจะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์