ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (YoY) กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้น และปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดลดลง ส่วนผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และข้าวเนื่องจากการส่งออกข้าวนึ่งเร่งสูงขึ้นในเดือนนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.4 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร ตามความต้องการในประเทศสำคัญยังขยายตัว และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะราคาทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ยังหดตัว
ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.0 (YoY) ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 18.1 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.4 จากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าคงทนลดลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามราคาผู้ผลิตรายสำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ฟื้นตัว ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย และทองคำที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โดยการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องซักผ้าและเครื่องปรับอากาศยังเติบโต และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ปรับสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ปี 2563 และ 2564 คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยธรรมชาติส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) การปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ 3) ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 4) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร 5) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น และ 6) เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรสูงขึ้น อย่างไรก็ตามมีปัจจัยกดดันให้ราคาปรับตัวลดลง คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 ในประเทศสำคัญทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญของโลกชะลอตัว
อัตราการค้าของไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 109.0 (เดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 109.7) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งทอและเสื้อผ้า
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 100.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 100.6) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 107.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 110.7 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.7 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 60.3
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ตามทิศทางสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวสูงขึ้น และผลผลิตสินค้าที่สำคัญเข้าสู่ตลาดลดลง โดยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ถุงมือยาง ส่วนราคากุ้งสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นจากตลาดจีน และข้าว โดยเฉพาะราคาข้าวนึ่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิยังปรับตัวลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นและน้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกลดลง
2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยดัชนีราคาส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้น และปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดลดลง ส่วนผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และข้าวเนื่องจากการส่งออกข้าวนึ่งเร่งสูงขึ้นในเดือนนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.4 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร ตามความต้องการในประเทศสำคัญยังขยายตัว และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะราคาทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ยังหดตัว
2.3 เฉลี่ย 11 เดือน ม.ค.-พ.ย. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 24.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นผลจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รวมทั้งการลดลงของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ ข้าว ไก่ ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัว เนื่องจากหลายประเทศมีการดำเนินมาตรการปิดเมืองและการทำงานที่บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 92.6 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 91.7) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 56.5 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 105.6 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 101.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 105.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 96.8
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 4.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ สะท้อนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 เนื่องจากราคาเหล็ก ทองแดงและผลิตภัณฑ์ของประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาพืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการในประเทศจีนสูงขึ้น ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า และวงจรพิมพ์ปรับตัวดีต่อเนื่อง จากวัฎจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.3 เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์โลหะที่สูงขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ส่วนมากเป็นสินค้าพรีเมียมและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และนาฬิกาและส่วนประกอบ
2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 18.1 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.4 จากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าคงทนลดลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามราคาผู้ผลิตรายสำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ฟื้นตัว ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย และทองคำที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โดยการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องซักผ้าและเครื่องปรับอากาศยังเติบโต และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ปรับสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2.3 เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรทัศน์ เนื่องจากการปรับราคาของผู้ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ราคาลดลง เนื่องจากผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคซบเซารุนแรง และห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศชะงักงัน ประกอบกับมีการปิดสายพานการผลิตยานยนต์ทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์