ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2020 11:08 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 50.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.5 และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 (สูงกว่าระดับ 50) สาเหตุสำคัญคาดว่าน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ อย่างต่อเนื่อง และความกังวลต่อการระบาดของโควิด -19 เริ่มผ่อนคลายลงตามลำดับ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน และความขัดแย้งทางการเมือง จากหลายฝ่ายยังยืดเยื้อ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลทางลบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.0 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 ภาคเหนือ จากระดับ 43.1 มาอยู่ที่ระดับ 45.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มาอยู่ที่ระดับ 47.1 จากระดับ 45.3 และ 45.8 ตามลำดับ คาดว่ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 คาดว่าน่าจะมาจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกกลุ่มอาชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มเกษตรกร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.7 มาอยู่ที่ 46.6 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 43.2 มาอยู่ที่ 44.9 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ 47.0 กลุ่มพนักงานของรัฐจากระดับ 50.3 มาอยู่ที่ 51.8 กลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 41.2 เป็น 42.9 กลุ่มรับจ้างอิสระและนักศึกษา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ44.4 จากระดับ 42.2 และ 44.0 ตามลำดับ คาดว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่สะสมในช่วงก่อนหน้าหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น

ข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและอื่นๆ

พฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์

ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่า ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เท่าเดิม (ร้อยละ 46.14) ซื้อลดลง(ร้อยละ 35.83) และซื้อเพิ่มขึ้น(ร้อยละ 18.03) ซึ่งผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่าน Platformสมัยใหม่ อาทิ Lazada ,Shopee มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.45รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Lotus /BigC /Watson /Robinson ) ร้อยละ 25.32และ Facebook ร้อยละ 16.44สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 49.23 รองลงมา คือ 1,001-3,000 บาทร้อยละ 37.57 และมากกว่า 3,000 บาท ร้อยละ 13.20

สำหรับสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 27.46 อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 21.13 ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้านร้อยละ 18.69 และสุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคลร้อยละ 17.71 โดยเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องความสะดวกร้อยละ 33.28รองลงมา คือ ราคาถูก ร้อยละ 20.30และมีให้เลือกหลากหลายร้อยละ 18.94

ความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของภาครัฐ พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.18 ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ร้อยละ 45.30 เที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 21.06 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 7.70 ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 39.63 สอดคล้องกับความต้องการร้อยละ 22.81 สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริงร้อยละ 22.66 และเห็นว่าใช้สะดวกร้อยละ 14.90 ทั้งนี้โครงการที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง สูงถึงร้อยละ 47.95 ชิม ช้อป ใช้ ร้อยละ 25.82 เพิ่มวันหยุดยาวร้อยละ 19.04 เที่ยวด้วยกันร้อยละ 4.70 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 2.49

สำหรับเหตุผลหลักของผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ คือ ขั้นตอนลงทะเบียน/การใช้ยุ่งยาก(ร้อยละ 30.90) รองลงมา ลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนด(ร้อยละ 27.71) และเหตุผลอื่นๆ อาทิ ไม่จูงใจ อุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวยในการใช้งาน ไม่ทราบ/ไม่เข้าใจมาตรการ ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล (ร้อยละ 41.39)

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ