ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนธันวาคม 2563 และปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2021 14:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนธันวาคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 99.8 เทียบกับเดือนธันวาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ซึ่งมีปัจจัยหลักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ในปีนี้ความต้องการสินค้าชะลอตัว และราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 23.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก อ้อย พืชผัก จากปริมาณผลผลิตลดลง ผลปาล์มสด มันสำปะหลังสด และยางพารา จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ช่วยให้ราคาพืชเกษตรสำคัญปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าวัตถุดิบ หดตัวร้อยละ 2.5 และ 1.4 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ อ้อย ? น้ำตาลทรายดิบ - น้ำตาลทรายขาว ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ - ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง และผลปาล์มสด ?น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ

1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน และส่งผลให้ราคาสินค้าสำคัญลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) จากความต้องการใช้ที่ลดลง กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์ ทั้งเส้นใย ด้าย และผ้าทอ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ย.63 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 23.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบริโภคในประเทศและการส่งออก มันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนของนโยบายส่งเสริมการใช้ด้านพลังงาน เป็นการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากฝนตกชุกและพายุในภาคใต้ ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของการผลิตถุงมือยางและยางล้อ มะพร้าวผล อ้อย และพืชผัก (มะนาว แตงกวา พริกสด ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ต้นหอม หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดหัว ผักกวางตุ้ง แตงร้าน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาทูสด ปลาลัง ปลากะพง และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง

2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง รำข้าวขาว กากรำข้าว มันเส้น มันอัดเม็ด กุ้งแห้ง น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เนื่องจากผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่มากนัก สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ หลายกลุ่มได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับมีความคืบหน้าของผลการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมัน เหล็ก และเม็ดพลาสติก ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาสินค้าสำคัญและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กรูปตัวซี ท่อเหล็ก และลวด กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และยางสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ผู้ผลิตหลายรายประสบกับปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกสินค้า ทำให้ต้นทุนค่าขนส่ง (Freight Cost) ปรับสูงขึ้นด้วย

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ตามราคาตลาดโลก

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากปริมาณสต็อกยางจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พืชผัก (มะนาว มะเขือ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง) เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ผลไม้ (กล้วยหอม สับปะรดโรงงาน) เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิตและไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดชะลอตัว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตข้าวนาปีมีปริมาณการเก็บเกี่ยวไม่มาก ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวไทยมีความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น มันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มากนัก และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้คุณภาพเชื้อแป้งอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของตลาดปรับเพิ่มขึ้น ปลาตะเพียน ปลานิล และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวและช่วงวันหยุดยาว

3. เฉลี่ย 12 เดือน (ม.ค.- ธ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 1.8 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า สายเคเบิล และสายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กฉาก และลวดเหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ขวดพลาสติก และถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ผ้าเช็ดตัว เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ และกางเกงสตรี กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม)

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า และชมพู่ กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ และกลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง และปลาหมึกกล้วย

4. ไตรมาส 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 22.1 ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.2

5. ไตรมาส 4 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.5

6. ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2563 และแนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2564

สถานการณ์ดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2563 หดตัวร้อยละ 1.8 เป็นผลจากสถานการณ์การค้าโลกชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ที่ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ราคาสินค้าสำคัญในหมวดอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์จากเหมือง ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรยังเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภัยธรรมชาติได้ส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่กลับมาเป็นบวกในเดือนพฤศจิกายน และอัตรากำลังการผลิต (CapU) ที่เกือบกลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2564 คาดว่า ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่น่าจะขยายตัวได้ดีในปี 2564 เนื่องจากฐานราคาต่ำในปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ น่าจะปรับตัวตามสถานการณ์ส่งออก และการท่องเที่ยวในประเทศ ที่คาดว่าจะกลับมาใกล้เคียงปกติได้ในปี 2564 นอกจากนั้น ผู้ประกอบการภาคการผลิตและผู้บริโภคต่างมีการปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อาทิ การปรับสายการผลิตสินค้า การเปลี่ยนรูปแบบทางการตลาด ทำให้คาดการณ์ว่าการบริโภคหรืออุปสงค์จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ยังไม่สิ้นสุด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ