ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2021 15:12 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) ได้มีการปรับปีฐานจากปี 2553 เป็นปีฐาน 2558 โดยตัวเลขดัชนี เดือนมกราคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 98.8 เทียบกับเดือนมกราคม 2563 ลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งทอ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งมีปัจจัยหลักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าชะลอตัว และราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก และยางพารา จากความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก จากปริมาณผลผลิตลดลง รวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ช่วยให้ราคาพืชเกษตรสำคัญปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ หดตัวร้อยละ 0.4 2.4 และ 2.2 ตามลำดับ เป็นผลจากสินค้าทุน สินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ใช่อาหารและสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ อ้อย - น้ำตาลทรายดิบ - น้ำตาลทรายขาว ตามผลผลิตที่ลดลง น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ - น้ำยางข้น/ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง และผลปาล์มสด - น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ

1. เทียบกับเดือนมกราคม 2563 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่กดดันทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าสำคัญลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) จากความต้องการใช้ที่ลดลงและราคาในตลาดโลก กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้ยางพารา) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์ ทั้งเส้นใย และผ้าทอ) กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า (สายเคเบิล) จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ เสื้อยืด ถุงเท้า) กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuits (IC) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล) จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าวผล กลุ่มพืชผัก แตง และพืชหัว (ต้นหอม ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง มะเขือ พริกสด ถั่วฝักยาว พริกชี้ฟ้าสด ผักกาดหัว ขิง หัวมันสำปะหลังสด) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของการผลิตถุงมือยางและยางล้อ กลุ่มสัตว์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด) ผลิตภัณฑ์จากการประมง (ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปูม้า กุ้งแวนนาไม หอยนางรม) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น จากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว เช่น โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ประกอบกับมีช่วงวันหยุดเทศกาล

2. เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อ้อย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเปิดหีบ และความต้องการของโรงงานผลิตน้ำตาลมีอย่างต่อเนื่อง สุกรมีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปูม้า ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ ปลาดุก ปลานิล และปลาตะเพียน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง กลุ่มพืชผัก แตง และพืชหัว (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ต้นหอม ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก มะนาว แตงกวา ข้าวโพดฝักอ่อน แตงร้าน ผักกาดหัว หัวมันสำปะหลังสด) และมะพร้าวผล เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผลปาล์มสด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวลดลง ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับปริมาณสต็อกยางพาราของประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาลดลง

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และแร่ (ดีบุก วุลแฟรม) ตามราคาตลาดโลก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า จากปริมาณผลผลิตมีน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง เนื้อสุกร น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ คุกกี้และพาย จากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น สับปะรดกระป๋อง น้ำมันปาล์มดิบ ปรับสูงขึ้นตามการทำสัญญาซื้อขายรอบใหม่ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ จากการปรับลดกำลังการผลิต ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่ง (Freight Cost) ปรับสูงขึ้น กระดาษพิมพ์เขียน ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น จากการทำงานและการเรียนที่บ้าน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด จากการส่งมอบและการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ เม็ดพลาสติก จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ยางสังเคราะห์ ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็กกล้า เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี ลวดเหล็ก เหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ถังเก็บน้ำ ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู/สกรู/น๊อต วัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก

3. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยบวกจากภาคอุตสาหกรรมบางสาขา โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง เภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร (อาหารบรรจุกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ครอบคลุมในทุกมิติ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก รวมทั้งการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด?19 ระลอกใหม่ในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยลบสำคัญ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและอุปสงค์โดยรวมยังคงซบเซา ภาคการผลิตและภาคบริการ จึงไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ คาดว่าความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด?19 ทั้งในและต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ จากวัคซีนที่เริ่มเห็นผล ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตและการบริโภคในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ