ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2564
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2564 เท่ากับ 109.3 เทียบกับเดือนมกราคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY) และสูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน ตามราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 19.1 จากความต้องการและราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ ประกอบกับมีการปิดเตาถลุงเหล็กหลายแห่งทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นชั่วคราว สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็ก และดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ปรับสูงขึ้น ขณะที่หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดวัสดุฉาบผิวปรับลดลง ตามสภาพเศรษฐกิจ ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ยังคงซบเซา
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนมกราคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง และวงกบประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและมีความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 19.1 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และข้อต่อเหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC และถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส ซึ่งราคาสูงขึ้นตามต้นทุน และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดสูงขึ้นจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องจากสินค้าในกลุ่มปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป จากการแข่งขันที่สูงขึ้นเนื่องจากโครงการก่อสร้างภาครัฐเริ่มมีการขับเคลื่อน ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.3 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากการก่อสร้างภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ ที่ปัสสาวะเซรามิก และราวแขวนผ้าติดผนัง
2. เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 3.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง และวงกบประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและมีความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากราคาวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก มีราคาสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 15.0 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู ตามการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาเศษเหล็กในตลาดโลก และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้นจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา
3. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา จากความต้องการของตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของจีน ประกอบกับนโยบาย "Made in Thailand" ของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งปริมาณสินค้าวัสดุก่อสร้างบางประเภทยังมีมากกว่าความต้องการ ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อระบายสินค้า จึงเป็นปัจจัยกดดันที่อาจจะส่งผลให้ภาคการก่อสร้างและภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร และยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์