ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2021 10:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 99.3 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก มันสำปะหลังสด อ้อย ผลปาล์มสด และยางพารา ตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง สุกรมีชีวิต ไข่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ กระดาษ เคมีภัณฑ์ จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและปริมาณผลผลิตสินค้าบางรายการปรับลดลง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.1 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.3 จากสินค้าทุน (เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.3 จากวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร (ก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสท) ขณะที่ดัชนีหมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มสินค้าในหมวดนี้มีการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรม ราคาปรับลดลง ขณะที่สินค้ากึ่งสำเร็จรูปก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น
1. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี มะนาว พริกสด พริกแห้ง พริกชี้ฟ้าสด กระเทียม ผักกาดหัว ขิง หัวมันสำปะหลังสด อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มพืชผล ได้แก่ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ชมพู่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านการบริโภคและด้านพลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล) ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางและยางล้อ กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน กุ้งแวนนาไม และหอยนางรม เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว ประกอบกับมีช่วงวันหยุดเทศกาล
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว น้ำตาลทราย กากน้ำตาล และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงมือยาง เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู/น็อต จากราคาวัตถุดิบ ประกอบกับราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงขึ้น สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากอุปทานลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงาน ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 15.1 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก
2. เทียบกับเดือนมกราคม 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และมีความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน หัวมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อ้อย เนื่องจากความต้องการของโรงงานน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สับปะรดโรงงาน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง กลุ่มพืชผล ได้แก่ มะม่วง มะละกอสุก ฝรั่ง ส้มโอ มะพร้าวผล เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ยางพารา เนื่องจากสต็อกยางภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อในช่วงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไก่มีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด ราคาปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงพอกับการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งทะเล ปูม้า กุ้งแวนนาไม ปลาดุก และปลาตะเพียน เนื่องจากความต้องการในประเทศยังคงชะลอตัว เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวซบเซา
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตามราคาตลาดโลก
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด จากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ประกอบกับการส่งมอบและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นแรงหนุนต่อความต้องการใช้น้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง จากปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว น้ำตาลทราย และกากน้ำตาล เป็นผลจากราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางหล่อดอกใหม่ ยางแท่ง และถุงพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กฉาก และลวดแรงดึงสูง จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก จากการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงานและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคร๊าฟท์ จากอุปทานที่ลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น
3.เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หน่วยรับข้อมูล/แสดงผล กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าเช็ดตัว กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ และเสื้อยืด กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนเม็ด เสาเข็มคอนกรีต กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ สายเคเบิล กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 16.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ
หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ผลปาล์มสด อ้อย หัวมันสำปะหลังสด ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาสีกุน ปลาทรายแดง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2564
ในเดือนมีนาคม 2564 คาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราการใช้กำลังการผลิต ที่เริ่มปรับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยดัชนีราคาผู้ผลิตมีปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับราคาฐานต่ำในปี 2563 นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรและราคาเหล็กยังมีทิศทางที่ดี รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญ (ถุงมือยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ สินค้าเกษตร อาหารแช่แข็ง) ที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีตามสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของต่างประเทศ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ