ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับ 109.7 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สูงขึ้นร้อยละ 4.3 (YoY) โดยสูงขึ้นตามราคาสินค้าในกลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ ซึ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.0 เนื่องจากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กกึ่งสำเร็จรูป และการลดกำลังการผลิตในประเทศจีน ตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา กระเบื้อง และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน ในขณะที่หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดวัสดุฉาบผิว ยังคงปรับตัวลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ยังคงซบเซา
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 21.0 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และข้อต่อเหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC และสายไฟฟ้า VCT เนื่องจากราคาทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดสูงขึ้นจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการลดลงที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีการดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซา โดยสินค้าที่ลดลงได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ และราวแขวนผ้าติดผนัง
2. เทียบกับเดือนมกราคม 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนมีราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก มีราคาสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของเหล็กตัวซี และเหล็กรางน้ำ ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มชะลอตัว จากที่ช่วงก่อนหน้ามีการปรับตัวสูงขึ้นมาก และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC สายเคเบิล THW เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ คือ ทองแดง ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการลดลง ประกอบความต้องการระบายสินค้าในสต๊อก ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว มวดสุขภัณฑ์
3.เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 20.0 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และข้อต่อเหล็ก ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากการที่ราคาเศษเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และสายเคเบิล THW และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการสูงขึ้น จากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.7 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มที่จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และคานคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากเริ่มมีการดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐ หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ และสายฉีดชำระ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์