ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการสูงขึ้นของ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากราคายางพาราสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ที่มีจำนวนมาก และราคาข้าวที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นตามการลดลงของผลผลิตในตลาดโลก และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากราคาทองคำยังไม่ขึ้นรูป ที่ยังคงสูงกว่าปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคา
เครื่องคอมพิวเตอร์ และเหล็กและเหล็กกล้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 15.6 ตามราคาน้ำมันที่ยังต่ำกว่าปีก่อนหน้า แต่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากราคาน้ำมันฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.2 (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้รับปัจจัยสนับสนุน ทั้งราคาทองคำที่ยังอยู่ระดับสูงกว่าปีก่อนหน้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้สินค้าสำคัญปรับเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากปัจจัยผลิตภัณฑ์ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ราคาสูงขึ้น และสินค้าสำหรับเด็กที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายราคาสูง รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้า
พรีเมียมเริ่มปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากราคาสินค้าประเทศผู้ส่งออกสำคัญปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นในหลายสินค้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ยอดขายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยสุดในรอบ 12 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในเดือนหน้า
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น 2) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังมีต่อเนื่อง 3) ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น 4) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร และ 5) เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรสูงขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง 2) ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก และถั่วเหลือง เป็นต้น และ 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
1. ดัชนีราคาส่งออก
1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2564 เท่ากับ 101.9 เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (MoM) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ ยางพารา เร่งสูงขึ้นตามความต้องใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณการผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นไม่มากและค่าเงินบาทแข็งค่า นอกจากนี้ ราคาผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งราคาปรับตัวสูงขึ้น จากความนิยมของสินค้าไทย ทำให้ความต้องการสินค้าและส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ น้ำตาลทราย โดยราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศยังคงลดลงและมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ รวมทั้งค่าเงินเรียลของบราซิลแข็งค่า ประกอบกับการส่งออกของอินเดียมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนราคาเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ปรับตัวตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นและเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนด้านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2564 เทียบกับเดือนมกราคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยดัชนีราคาส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.2 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากมีความต้องใช้เพื่อผลิตถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนราคาข้าวส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้ง ปลายข้าว ข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวกล้อง และข้าวนึ่ง จากผลผลิตภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตของไทยและประเทศผู้ส่งออกสำคัญยังคงลดลง ด้านราคาไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์จากความต้องการจากประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป ซึ่งราคายังคงทรงตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าหลังจากปรับสูงขึ้นมากในช่วงเศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรง ด้านเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด สำหรับราคาเหล็กและเหล็กกล้าสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน นอกจากนี้ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 15.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันที่ยังต่ำกว่าปีก่อนหน้า แต่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากราคาน้ำมันฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญปรับตัวดีขึ้น
2. ดัชนีราคานำเข้า
2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2564 เท่ากับ 95.8 เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 1.5 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น จากการที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ LOCKDOWN มากขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก ผลิตภัณฑ์ยาสูบ สบู่และผงซักฟอก นมและผลิตภัณฑ์นม หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ วงจรพิมพ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นของประเทศผู้ส่งออกสำคัญของโลกอย่างจีน สินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ ราคาสูงขึ้นจากความต้องการของจีนเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย สำหรับกล้อง เลนส์และอุปกรณ์การถ่ายรูป ถ่ายภาพ ปรับตัวสูงขึ้นตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สอดคล้องกับการคาดการณ์ยอดขายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์
2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2564 เทียบกับเดือนมกราคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 (YoY) โดยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ ทองคำ เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ในประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยในปี 2563 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ 5G ได้ รวมทั้งสินค้าสำหรับเด็กที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายราคาสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม และอาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก นอกจากนี้ สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าพรีเมียมอย่างเครื่องสำอาง และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ จากความต้องการในการทำงานที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นในหลายสินค้า และสอดคล้องกับการคาดการณ์ยอดขายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ยานพาหนะอื่น ๆ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ และอุปกรณ์จักรยานยนต์ สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าคงทนหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้า ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ น้ำมันดิบ ยังคงต่ำกว่าปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมกราคม 2564
อัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2564 เท่ากับ 106.4 (เดือนธันวาคม 2563 เท่ากับ 107.2) โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบในอัตราการค้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ นมและผลิตภัณฑ์นม ทองแดงและผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์