ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2564 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2021 11:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2564 เท่ากับ 110.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.4 (YoY) โดยสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 23.7 เนื่องจากปริมาณเหล็ก ในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็ก และการลดกำลังการผลิตในประเทศจีน ตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สรุปสถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.4 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ ไม้คาน และวงกบประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็กซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเริ่มมีการดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 23.7 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากการสูงขึ้นของสายไฟ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ทองแดง สแตนเลส มีราคาสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.0 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซา และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของซิลิโคน ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์

2. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก มีราคาสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ แผ่นสแตนเลส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการในประเทศเริ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ คือ ทองแดง ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการสูงขึ้น ประกอบราคาต้นทุนคือ น้ำมันดิบ ปรับสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์

3. ไตรมาส 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 21.2 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป น๊อต ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท ซึ่งยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของสายไฟ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการสูงขึ้น จากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.5 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มที่จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.5 จากการลดลงของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป และถังซีเมนต์สำเร็จรูป ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากเริ่มมีการดำเนินโครงการก่อสร้างภาครัฐ หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ และราวแขวนผ้าติดผนัง

4. ไตรมาส 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 4.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต และเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เนื่องจากราคาเหล็กที่เป็นวัตถุดิบสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 19.1 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท ซึ่งยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของสายไฟ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอท่อประปา ข้อต่อท่อประปา สามทางท่อประปา ก๊อกน้ำ ประตูน้ำ และมาตรวัดน้ำ จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการสูงขึ้น จากการเริ่มดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา จากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว หมวดสุขภัณฑ์

5. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม ปี 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ความต้องการของตลาดและต้นทุนของสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภทที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย รวมถึง ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างภาครัฐภายในประเทศ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบาย "Made in Thailand" ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้งานก่อสร้างใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมด น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก และยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ