ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 5, 2021 13:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนเมษายน 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 101.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.0 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 9.7 จากสินค้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลปาล์มสด และยางพารา ตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง พืชผัก ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน สุกรมีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง เนื่องจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.7 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น กลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 4.0 จากสินค้าสำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลง
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 10.7 และ 5.6 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ ? ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลังสด ? มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง อ้อย ? น้ำตาลทรายดิบ ? น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ผลปาล์มสด ? น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง
1. เทียบกับเดือนเมษายน 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.0 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 9.7 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ถั่วเขียว และถั่วเหลือง เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย มะนาว ถั่วฝักยาว แตงร้าน กระเทียม ผักกาดหัว) เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน หัวมันสำปะหลังสด อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ชมพู่ และส้มเขียวหวาน เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านพลังงานและการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ดี ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางและยางล้อ กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยแมลงภู่ และหอยแครง เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.7 โดยมีปัจจัยหลักจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วยสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โพรพิลีน เบนซีน โทลูอีน ไซลีน และเม็ดพลาสติก จากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานตลาดโลกลดลง เนื่องจากหลายโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวจากภัยธรรมชาติและซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงต้นปี กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อโค เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย กากน้ำตาล กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ถุงมือยาง จากการปรับสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดแรงดึงสูง และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู/น็อต จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก กลุ่มกระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี และรถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 4.0 เป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลง จากสินค้าสำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ
2. เทียบกับเดือนมีนาคม 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ พืชผัก (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง มะนาว ถั่วฝักยาว) เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอยู่ ทำให้ราคาปรับขึ้นเล็กน้อย หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ราคาจึงยังอยู่ในเกณฑ์ดี กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ส่งผลให้ราคาปรับลดลงเล็กน้อย กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรด ทุเรียน มะม่วง มะละกอสุก ฝรั่ง และส้มเขียวหวาน กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากเป็นช่วงปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ) เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ ปลาลัง ปลากะพง ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม ปลาช่อน ปลาดุก และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัวจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่ (ดีบุก สังกะสี) ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ มันเส้น แป้งมันสำปะหลัง จากราคาวัตถุดิบการเกษตรสูงขึ้น ปลาป่น จากปริมาณผลผลิตมีน้อยและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น กุ้งแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง วัตถุปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เบียร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ ตามราคาวัตถุดิบสูงขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เอทิลีน โพรพิลีน เม็ดพลาสติก เนื่องจากอุปทานลดลงทั่วโลก จากผู้ผลิตรายใหญ่ปิดโรงงานชั่วคราวจากผลกระทบของพายุฤดูหนาวและปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงไตรมาสแรกของปี แม้ว่าขณะนี้โรงงานกลับมาผลิตตามปกติแล้ว แต่อุปทานในตลาดจะกลับสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลา 2-3 เดือน โซดาไฟ เนื่องจากราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดเหล็ก และลวดแรงดึงสูง เนื่องจากวัตถุดิบมีน้อยและราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก
3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 1.7 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวเปลือกเจ้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง มะนาว พริกสด ถั่วฝักยาว พริกชี้ฟ้าสด กระเทียม ผักกาดหัว ขิง หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ลองกอง ชมพู่ ผลปาล์มสด ยางพารา สุกรมีชีวิต และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง และปลาตะเพียน
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อโค เนื้อสุกร เป็ดสด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ปลาป่น กะทิ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มดิบ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง กลูโคสเหลว น้ำตาลทรายดิบ/บริสุทธิ์ และกากน้ำตาล กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู /น๊อต กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 12.4 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ (NG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท)
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2564
ดัชนีราคาผู้ผลิตยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) น้ำมันดิบที่ราคาปรับสูงขึ้นจากอุปสงค์โลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับฐานราคาปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ 2) สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง 3) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก และ 4) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า หลังจากที่วัคซีนได้กระจายไปทั่วโลกมากขึ้น สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ยังเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่ทำให้กิจกรรมการผลิต และการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจชะลอตัว ส่งผลไปยังกำลังซื้อ อุปสงค์ และภาคการผลิตในที่สุด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ