ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 3.5 (YoY) และปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน สาเหตุหลักเป็นผลจากหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากราคาเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ตามต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นตามทิศทางความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เร่งตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 36.0 โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่กลับมาเป็นบวกเดือนแรก หลังจากลดลงติดต่อกัน 13 เดือน ในช่วงก่อนหน้า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.8 จากราคายางพาราเป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางและยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามผลผลิตตลาดโลกที่ลดลงในปีก่อน
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) โดยปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 65.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ จากความต้องการในการทำงานที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น (จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นค่าระวางเรือ)
2) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
3) ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น
4) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด รวมถึงเกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น และ
5) แนวโน้มเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรสูงขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563
3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก และถั่วเหลือง เป็นต้น และ
4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
1. ดัชนีราคาส่งออก
1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2564 เท่ากับ 103.0 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 7.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจประเทศสำคัญที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากผลของเศรษฐกิจโลกที่มีการ
ฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นส่วนประกอบในสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เหล็ก เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น ขณะที่ทองคำ ราคายังลดลงต่อเนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่า ประกอบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และบิตคอยน์ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะยางพารา ตามความต้องการใช้ยางแปรรูปในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการผลิตยางล้อมากขึ้น นอกจากนี้ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนมีการนำเข้ามันเส้นทดแทนราคาข้าวโพดที่สูงขึ้น เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์รวมถึงผลิตแอลกอฮอล์ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.1 จากราคาน้ำตาลทรายเป็นสำคัญ เนื่องจากสต๊อกน้ำตาลโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามปริมาณผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียและบราซิล
ที่เพิ่มขึ้น
1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2564 เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.5 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นจากความต้องการใช้และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ เหล็ก สูงขึ้นตามทิศทางราคาตลาดโลก และจีนมีความต้องการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 36.0 จากฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.8 โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามผลผลิตตลาดโลกที่ลดลงในปีก่อน
1.3 ดัชนีราคาส่งออกไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.2 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.7 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการของตลาด ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.0 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในช่วงก่อนหน้าที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และอาหารทะเลกระป๋อง
และแปรรูป ตามความต้องการของตลาด และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันเฉลี่ยยังต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า
1.4 ดัชนีราคาส่งออกไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.6 (QoQ) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 19.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญเริ่มคลี่คลาย จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคปรับตัวดีขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาด และส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น รวมถึงสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย เนื่องจากอ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เนื่องจากเป็นสินค้าที่เก็บไว้ได้นาน ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง
2. ดัชนีราคานำเข้า
2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2564 เท่ากับ 98.7 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 7.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน เนื่องจากหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว และอุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และนมและผลิตภัณฑ์นม เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ ตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับสูงขึ้น สำหรับทองคำ ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีการเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย และได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเริ่มลดลง และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการตลาดโลกชะลอลง
2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2564 เทียบกับเดือนมีนาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 65.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าเชื้อเพลิงในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทองคำ และแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.5 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น สำหรับสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ จากความต้องการในการทำงานที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
2.3 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.1 (YoY) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 24.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.8 ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ปรับตัวตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคากลุ่มสินค้าสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก
2.4 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.7 (QoQ) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 28.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าน เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องกลและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก รถยนต์นั่ง และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น
3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมีนาคม 2564
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์