ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สาเหตุหลักเป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากราคายางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อผลิตถุงมือยาง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 เนื่องจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงขึ้น ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าแร่โลหะ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้นตามการลดลงของผลผลิตในตลาดโลกเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขยายตัวแล้ว แต่ราคาหมวดสินค้านี้ยังคงหดตัว เนื่องจากการส่งออกเป็นการอ้างอิงจากราคาก่อนหน้า
ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 5.7 (YoY) โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 19.8 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.9 เนื่องจากต้นทุนในตลาดโลกสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะมือถือ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น
ในกลุ่มสินค้าสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากราคาที่สูงขึ้นตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าคงทนภายในประเทศ
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น (จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นราคาค่าระวางเรือ)
2) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
3) ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น
4) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร และ
5) เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรสูงขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
2) ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563
3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก และถั่วเหลือง เป็นต้น และ
4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
1. ดัชนีราคาส่งออก
1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับ 102.5 เทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 7.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ราคาสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากผลของเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นส่วนประกอบในสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นตามสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่สูงขึ้น และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทองคำ แนวโน้มราคาปรับตัวลดลง โดยหดตัว 5 ใน 6 เดือนหลังสุด เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่า ประกอบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และบิตคอยน์ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ยางพารา ตามความต้องการใช้ยางในตลาดที่มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยางแปรรูปในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการผลิตยางล้อ เช่นเดียวกับราคาข้าว สูงขึ้นเล็กน้อย จากปริมาณผลผลิตในตลาดที่น้อยลง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้หัวมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลงจากปัญหาภัยแล้ง
1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนราคาข้าวสูงขึ้นเกือบทุกประเภท จากผลผลิตภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ตามความต้องการผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด สำหรับเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นจากความต้องการใช้และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เหล็ก ราคาสูงขึ้นตามทิศทางตลาดโลก และจีนมีความต้องการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตตลาดโลกลดลง ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขยายตัวแล้ว แต่ราคาหมวดนี้ยังคงหดตัว เนื่องจากการส่งออกอาจเป็นการอ้างอิงจากราคาก่อนหน้า
1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (AoA) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ราคาสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 8.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันเฉลี่ยยังต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า
2. ดัชนีราคานำเข้า
2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับ 97.5 เทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.8 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 9.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ การส่งมอบและการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวและความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ปุ๋ย เนื่องจากค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สำหรับทองคำปรับตัวลดลง เนื่องจากการเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย และได้รับแรงกดดันจากเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เครื่องประดับอัญมณี และเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ราคาสูงขึ้นจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น
2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.7 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 19.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าเชื้อเพลิงในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.9 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโดยเฉพาะมือถือ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ในกลุ่มสินค้าสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ จากความต้องการในการทำงานที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าคงทนหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้า
2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 4.0 (AoA) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 8.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.6 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ปรับตัวตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคากลุ่มสินค้าสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากความต้องการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์
3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์