ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2021 20:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนพฤษภาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 101.6 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.8 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก คือ หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากสินค้าสำคัญ อาทิ หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลปาล์มสด และยางพารา ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ สุกรมีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง จากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.7 สาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 7.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และแร่ (ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม)

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 13.6 และ 9.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ อ้อย ? น้ำตาลทรายดิบ ? น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ผลปาล์มสด ? น้ำมันปาล์มดิบ ? น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ ? ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลังสด ? มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง

1. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.8 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ถั่วเขียว หัวมันสำปะหลังสด อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ เงาะ และชมพู่ เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาลัง ปลากะพง ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม หอยแมลงภู่ และหอยแครง เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวและปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่เพียงพอในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ระดับราคายังคงอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก (มะนาว พริกสด ผักกาดหอม ฟักทอง ต้นหอม มะเขือเทศ ผักชี ผักบุ้ง มะระจีน กะหล่ำดอก หอมหัวใหญ่) เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.7 สาเหตุหลักเกิดจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั่วโลกมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เอทิลีน โพรพิลีน เม็ดพลาสติก และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อโค เนื้อสุกร ไก่สด เป็ดสด ปลาป่น น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย กากน้ำตาล และอาหารสัตว์สำเร็จรูป กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงมือยาง และถุงพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู/สกรู/น๊อต กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ท่อคอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ กระดาษแข็ง สำหรับสินค้ากลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก จากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น น้ำดื่ม จากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กลุ่มสิ่งพิมพ์และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ได้แก่ หนังสือแบบเรียน จากปริมาณการผลิตน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 7.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และกลุ่มแร่ (ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก

2. เทียบกับเดือนเมษายน 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.8 จากสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก (มะนาว พริกสด ต้นหอม กระเทียม ผักกวางตุ้ง ฟักทอง ผักกาดหอม ผักบุ้ง แตงกวา ผักคะน้า มะเขือ แตงร้าน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพต่ำ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ราคาปรับลดลงเล็กน้อย กลุ่มไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน สับปะรดโรงงาน กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน มะม่วง กล้วยหอม และมังคุด เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ โค สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาลัง กุ้งทะเล ปูม้า ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปลาช่อน ปลาตะเพียน และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัวจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากเริ่มเปิดกรีดยางและบางพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ประกอบกับความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่ (ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด จากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ผลิตลดจำนวนแรงงานและชั่วโมงการทำงาน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็ดสด ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ปลาป่นจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้สำหรับผลิตอาหารปศุสัตว์และสัตว์น้ำยังมีอย่างต่อเนื่อง น้ำตาลทราย สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเครื่องรถยนต์ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลจากหลายประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง เช่น สหรัฐฯ และยุโรป เริ่มผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ และมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ถังแก๊ส ตะปู/สกรู/น๊อต ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ และกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กรดเกลือ โซดาไฟ ตามราคาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงมือยาง ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตถุงมือยาง และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก

3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.- พ.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 2.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวเปลือกเจ้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง มะนาว พริกสด พริกแห้ง ถั่วฝักยาว หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ผลปาล์มสด ยางพารา โคมีชีวิต สุกรมีชีวิตและไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไมและหอยแครง

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อโค น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ มันเส้น กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ตะปู/สกรู /น๊อต กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 8.8 จากการลดลงของราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ (NG)

4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2564

ดัชนีราคาผู้ผลิตคาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลายจากการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึง ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ยานยนต์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอัญมณีและเครื่องประดับ สอดคล้องกับตัวชี้วัดด้านอุปทาน ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกระทบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ