ดัชนีราคาส่งออก เดือนเมษายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน อยู่ที่ร้อยละ 3.9 (YoY) และสูงสุดในรอบ 28 เดือนสาเหตุหลักเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ปรับตัวสูงขึ้นมาก ที่ร้อยละ 69.2 ซึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันในช่วงก่อนหน้าอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก รวมถึงความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกในระยะต่อไป คาดว่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 โดยเฉพาะกับกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.3 จากราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามผลผลิตที่ลดลงในประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลก
ดัชนีราคานำเข้า เดือนเมษายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 13.1 (YoY) และสูงสุดในรอบ 28 เดือนเช่นกัน โดยปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 103.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.5 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี 2) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น (จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นค่าระวางเรือ) 3) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 4) ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ 5) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสารและ 6) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ฐานราคาน้ำมันในปี 2563 เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง 2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียม เป็นต้น และ 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
1. ดัชนีราคาส่งออก
1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนเมษายน 2564 เท่ากับ 102.8 เทียบกับเดือนมีนาคม 2564 ลดลงร้อยละ 0.2 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 โดยเฉพาะสินค้าข้าว เนื่องจากการส่งออกลดลงมาก ขณะที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีอุปทานส่วนเกินในตลาดสูงขึ้น และยางพารา ราคาลดลง ตามทิศทางราคายางในตลาดโลก และมีการประมูลสต๊อกยางพาราเก่า ทำให้ปริมาณยางถูกระบายออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ โดยลดลงเป็นเดือนแรก หลังจากช่วงก่อนหน้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน สาเหตุหลักเป็นผลจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดีย
ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงคาดว่าปริมาณน้ำมันดิบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรตัดสินใจที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากราคาน้ำตาลทรายเป็นสำคัญ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงจากปัญหาสภาพอากาศ นอกจากนี้ อาหารสัตว์เลี้ยง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง และทองคำ ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนเมษายน 2564 เทียบกับเดือนเมษายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.9 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 69.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเหล็ก ราคาสูงขึ้นจากความต้องการใช้และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้าเทคโนโลยีรุ่นใหม่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.3 โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สูงขึ้นเนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามผลผลิตตลาดโลกที่ลดลงในปีก่อน
1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 (AoA) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ยาง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 15.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้า และ
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในช่วงก่อนหน้าที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น
2. ดัชนีราคานำเข้า
2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนเมษายน 2564 เท่ากับ 98.3 เทียบกับเดือนมีนาคม 2564 ลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงคาดว่าปริมาณน้ำมันดิบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรตัดสินใจที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิต หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งคาดว่าบางส่วนเป็นสินค้าจากโมเดลเก่า
หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ซึ่งแม้ว่าความต้องการจะขยายตัว แต่ราคาเริ่มชะลอตัว สะท้อนถึงการเร่งขึ้นของราคาค่อนข้างจำกัด และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และเครื่องมือสื่อสาร สะท้อนถึงราคาเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากเริ่มมีการลงทุนในทองคำมากขึ้น นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น
2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนเมษายน 2564 เทียบกับเดือนเมษายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 13.1 (YoY) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 103.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.5 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และทองคำ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์
การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากความต้องการในการทำงานที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 7.8 (AoA) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 38.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.0 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก
3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนเมษายน 2564
อัตราการค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2564 เท่ากับ 104.6 (เดือนมีนาคม 2564 เท่ากับ 104.4) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิต เช่น ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์