ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2564
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 114.6 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 10.1 (YoY) เนื่องจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 43.7 จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาทองแดงและอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้สินค้าในหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาปรับตัวสูงขึ้น โดยสูงขึ้นร้อยละ 4.5 เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีทองแดงและอลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบ
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน วงกบประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ ประกอบกับฐานต่ำในปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 43.7 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงสูงขึ้น จากปริมาณการผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.5 ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ สายเคเบิล THW ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีเหล็กและทองแดงเป็นส่วนประกอบ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของราคายางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดสูงขึ้นจากการดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.1 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูงจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของซิลิโคน ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์
2. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากราคาเหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสายเคเบิล THW และสายไฟฟ้า VCT เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และเหล็กรางน้ำ เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง จากสถานการณ์การซื้อขายในประเทศจีนเริ่มชะลอตัวลง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคายางมะตอย เนื่องจากความต้องการเริ่มลดลง จากการชะลองานก่อสร้างภาครัฐ ภายหลังจากการเร่งดำเนินงานในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูฝน การก่อสร้างเริ่มชะลอตัว ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์
3. เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตผสมเสร็จ และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนของวัตถุดิบ คือ เหล็ก ปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 31.5 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี แผ่นสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป น๊อต ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของสายเคเบิล THW สายไฟ VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของทรายถมที่ ดินถมที่ หินคลุก ทรายละเอียด หินใหญ่ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ วงกบอลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.8 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สถานการณ์การก่อสร้างชะลอลงจากเดิม ถึงแม้ช่วงก่อนหน้านี้จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ และราวแขวนผ้าติดผนัง
4. ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 9.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของ ไม้พื้น ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตผสม ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก ที่ราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 42.3 จากการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเกือบทุกชนิด ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่น ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของสายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของ ทรายถมที่ ดินถมที่ ทราย หิน หินคลุก อลูมิเนียม และราคายางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของ ซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของฉากกั้นห้องอาบน้ำ และฝักบัวอาบน้ำ
5. ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 12.0 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ เหลือกแผ่นเคลือบสังกะสี แผ่นสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของสายไฟ VCT สายเคเบิล THW ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของทรายถมที่ ดินถมที่ หิน หินคลุก ทราย อลูมิเนียมแผ่นเรียบ วงกบอลูมิเนียม ยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์
6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 3 ปี 2564
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ตามความต้องการและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น จากมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การสั่งปิดแคมป์คนงาน ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน และหยุดการก่อสร้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมด 10 จังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังน่ากังวล น่าจะส่งผลให้ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องชะลอตัวในระยะต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์